Wednesday, March 27, 2013

นมผสมดีไม่แพ้นมแม่จริงหรือ



            ผู้ผลิตนมผสมใช้เวลามากกว่าศตวรรษในการพยายามวิเคราะห์แยกแยะส่วนประกอบแต่ละชนิดของนมแม่ และนำสารสังเคราะห์มาประกอบเป็น นมทดแทน

            บริษัทผู้ผลิตนมผสมอ้างว่า นมผสมมีสารอาหารหลากหลายใกล้เคียงกับนมแม่ รวมทั้งทุ่มโฆษณาเพื่อสร้างภาพความคล้ายคลึงหรือเหนือกว่านมแม่

          แต่การผลิตนมผสมที่มีคุณสมบัติเหมือนน้ำนมแม่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ ส่วนประกอบทั้งหมดของน้ำนมแม่

            ในบรรดาส่วนประกอบของนมแม่ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ได้แล้ว นมแม่ก็ยังมีส่วนประกอบอีกมากกว่า 100 ชนิด ที่นมผสมไม่มี


            การเลือกใช้นมวัว หรือนมถั่วเหลือง เป็นวัตถุดิบหลักของนมผสม ไม่ใช่เพราะมันมีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำนมแม่มากที่สุด แต่เพราะมันเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายและราคาถูก ทำให้ผู้ผลิตสามารถทำกำไรได้มาก

            ผู้ผลิตนมผสมต้องเติมสารสังเคราะห์ต่าง ๆ ลงไปในนมวัว หรือนมถั่วเหลือง เพื่อจะโฆษณาอวดอ้างว่ามีสารอาหารครบถ้วนเหมือนนมแม่ หรือมากกว่านมแม่

            แต่สารต่าง ๆ ที่เติมแต่งเข้าไปนั้นเป็น สารสังเคราะห์ทางเคมี ซึ่งไม่มีทางเลียนแบบสารธรรมชาติในนมแม่ได้



            ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า สารสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารธรรมชาติในนมแม่จะมีประโยชน์กับทารกจริงหรือไม่

            บริษัทผู้ผลิตมักอ้างงานวิจัยเพื่อโฆษณาสรรพคุณของนมผสม แต่การวิจัยส่วนใหญ่มักจะได้ทุนจากบริษัทผลิตนมผสมเอง และไม่มีการรับรองหรือตรวจสอบจากองค์กรวิจัยอิสระที่เชื่อถือได้จริง

            สาเหตุที่งานวิจัยของบริษัทนมผสมไม่มีการรับรองจากองค์กรวิจัยอิสระ ก็เพราะบริษัทนมผสมไม่สามารถนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปทดลองกับทารกจริง ๆ ได้จำนวนมากพอ

            และเมื่อใดที่ผลทดลองแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ปลอดภัย ผลทดลองเหล่านั้นก็มักจะถูกตัดออกจากผลงานวิจัยที่นำมารายงานให้สาธารณชนทราบ

            เมื่อเกิดปัญหาจากการบริโภคนมผสมที่จำหน่ายในท้องตลาด บริษัทนมผสมจะแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนส่วนผสม และนำออกมาวางขายในรูปของนมผสมสูตรใหม่ในราคาที่แพงขึ้น แต่ผู้บริโภคจะไม่มีโอกาสรู้เลยว่า ส่วนผสมใหม่จะก่อให้เกิดปัญหาอีกหรือไม่

            มื่อใดที่มีนมผสมสูตรใหม่ออกวางจำหน่าย ก็เท่ากับว่าบริษัทนมผสมกำลังทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ของตนเอง โดยใช้ผู้บริโภคทั่วไปเป็นหนูทดลองนั่นเอง

          “การเปลี่ยนแปลงสูตรนมผสมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นการทดลองที่ใหญ่ที่สุด ที่ทำโดยตรงกับมนุษย์โดยปราศจากการควบคุม2
Kathleen Auerbach

ผลกำไรบนความเสี่ยงของสุขภาพทารก


          นมผสมเป็นเพียง สารอาหารทดแทนนมแม่

            ในสถานการณ์ที่จำเป็นด้านการแพทย์ การใช้นมผสมสามารถช่วยชีวิตเด็กได้ แต่ในทางกลับกัน การให้ทารกกินนมผสมแทนนมแม่ในกรณีที่ไม่จำเป็นนั้น ถือเป็น ความเสี่ยง ต่อสุขภาพของทารกอย่างแท้จริง

            การจะให้ผู้คนยอมรับนมผสมซึ่งมีคุณสมบัติด้อยกว่านมแม่มากได้นั้น ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนมุมมองการเลี้ยงดูเด็กเสียใหม่ โดยสร้างภาพความทันสมัยและความเหนือกว่าในแง่วิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในใจของผู้ให้บริการสาธารณสุขและพ่อแม่ 

            บริษัทนมผสมใช้ช่องทางของระบบบริการสาธารณสุขเป็นการเปิดตลาด ให้บุคลากรสาธารณสุขเป็นผู้แจกตัวอย่างฟรี เพื่อจูงใจให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมผสม

            หลังคลอดบุตร แม่และทารกจะกลับบ้านไปพร้อมกับนมผสม แจกฟรี จำนวนหนึ่ง เมื่อนมผสมที่ได้รับแจกฟรีหมดลง ทารกก็ไม่ยอมดูดนมจากอกแม่แล้ว และต่อมน้ำนมของแม่ก็เริ่มแห้งไปอีกด้วย ทำให้แม่ต้องกลับไปซื้อนมผสมเพื่อเลี้ยงทารกต่อไป

            การให้ทารกกินนมแม่ถูกเปลี่ยนจากพฤติกรรมปกติธรรมดาเป็นขบวนการที่ยุ่งยากลำบากและล้าสมัย

            ยอดขายนมผสมเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของทารกที่เพิ่มสูงขึ้น  ตั้งแต่ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ ส่วนของโลก

            ค.ศ. 1979 มีนมผสม ออกจำหน่ายถึง 50 ยี่ห้อ 200 ชนิด กระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก

            ค.ศ. 1994 องค์การอนามัยโลก รายงานว่าทุก ๆ ปี ทารกประมาณ 1.5 ล้านคน เสียชีวิตเพราะไม่ได้กินนมแม่ ขณะที่อีกหลายล้านเป็นโรคขาดอาหารและโรคอื่น 

     ทั้งในประเทศร่ำรวยและยากจน ทุก ๆ วันจะมีทารกต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายพันคน เนื่องจากได้รับอาหารหรือของเหลวอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ แผนกกุมารเวชกรรมไม่ได้เต็มไปด้วยทารกที่ได้กินแต่นมแม่ล้วน ๆ เลย 1

Monday, March 25, 2013

อาหารทดแทนที่ไม่จำเป็น


แม่ทุกคนมีน้ำนมตามธรรมชาติเพียงพอสำหรับลูกของตัวเอง แล้วทำไม ? บริษัทนมผสมจึงพยายามสร้างสารทดแทนนมแม่ขึ้นมา ทั้งที่ไม่จำเป็น

เพราะผู้ผลิตนมผสมเล็งเห็นว่า... หากสร้างความต้องการและการพึ่งพิงสารทดแทนนมแม่ได้ จะสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลนั่นเอง

ตั้งแต่ดั้งเดิมทารกกินนมแม่ซึ่งมีทั้งสารอาหารและภูมิคุ้มกันครบถ้วน  การให้นมแม่เป็นวิถีธรรมชาติปกติในการเลี้ยงทารก  มีบางกรณีที่พบได้น้อยมากเท่านั้นที่ผู้หญิงไม่สามารถให้นมแม่แก่ลูกได้  หรือทารกถูกทอดทิ้ง จึงมีการคิดค้นนมผสมขึ้นเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1867  เพื่อใช้ใน สถานการณ์ที่พบน้อยมาก ๆ เหล่านี้

แต่เมื่อเวลาผ่านไปบริษัทนมผสมไม่พอใจเพียงแค่ตลาดกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น  จึงเริ่มส่งเสริมให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดยอ้างว่าเป็นนมที่ ทดแทนนมแม่ได้อย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้"

การโหมโฆษณาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อทำให้คนเชื่อว่า นมผสม เป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทันสมัย และสะดวกกว่านมแม่ จึงทำให้เกิด ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่จริง ๆ แล้วแทบจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้เลย


ให้ลูกกินนมกระป๋อง..แน่ใจหรือ?

คำนำ

ทุกวันนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้ดีว่า “นมแม่” เป็น “สิ่งที่ดีที่สุด” สำหรับทารก แต่ก็ยังเข้าใจว่านมผสมก็ดีไม่แพ้นมแม่ ในขณะที่บุคคลอื่นในครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงทารกคนใหม่ (เช่น ย่า ยาย พี่ป้าน้าอา หรือกระทั่งผู้ช่วยเลี้ยงลูก) ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า นมผสมดีกว่านมแม่

เมื่อเข้าใจเช่นนั้น การเลือกระหว่าง “นมแม่” หรือ “นมผสม” ก็เหมือนกับการเลือกระหว่าง “ดีที่สุด” กับ “ดีพอ ๆ กัน” ซึ่งจบลงตรง “อะไรก็ได้” ที่ง่ายและสะดวก แต่ความเข้าใจดังกล่าวนั้นเป็นความเข้าใจที่ “ไม่ถูกต้อง” 

การเลือกระหว่าง “นมแม่” กับ “นมผสม” ไม่ควรเป็น “อะไรก็ได้” เพราะมันเป็นการเลือกระหว่าง “ความเป็นปกติ” กับ “ความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วย” ผู้ผลิตนมผสมทำงานอย่างหนักที่จะปกปิดความจริงข้อนี้ รวมทั้งสร้างภาพบิดเบือนเพื่อทำให้คนเชื่อว่า นมผสมมีความปลอดภัยและดีเท่า ๆ กับนมแม่ หรือบางครั้งโกหกว่า ดีกว่านมแม่

 หนังสือเล่มนี้ ต้องการให้พ่อแม่ทุกคนได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนตัดสินใจเลือก

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์

Creative Commons License
บทความต่าง ๆ ในบล็อก nommae.blogspot.com โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ nommae.blogspot.com.