Monday, May 6, 2013

นมเกลี้ยงเต้า เข้าใจให้ถูกต้อง


คำแนะนำที่แม่มือใหม่มักจะได้รับเมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็คือ ต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้า หรือลูกดูดได้เกลี้ยงเต้ากว่าใช้เครื่องปั๊ม ซึ่งอาจจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิด ตัวอย่างของความเข้าใจผิดก็คือ คำถามประเภทที่ว่า ปั๊มนมเสร็จแล้ว แต่ไม่เกลี้ยงเต้า บีบด้วยมือก็ยังออกมาอีก ทำยังไงถึงจะเกลี้ยงเต้า

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าคำว่า "เกลี้ยงเต้า" จนไม่มีน้ำนมเหลือในเต้านั้นจริงๆ แล้วจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแม่เลิกให้นม เลิกปั๊ม แล้วน้ำนมจึงจะหยุดผลิต หรือที่เรียกว่านมแห้งนั่นเอง ถ้ายังมีการให้ลูกดูด หรือปั๊มนมอยู่นั้น จะไม่มีทาง "เกลี้ยงเต้า" จริงๆ ได้เลย เพราะร่างกายเราผลิตน้ำนมอยู่ตลอดเวลาค่ะ น้ำนมจะถูกผลิตมาเก็บไว้ในเต้านม เมื่อพื้นที่เก็บเต็ม จะเกิดอาการคัด เพราะน้ำนมที่ผลิตใหม่ไม่มีที่จะเก็บ คุณแม่ต้องระบายน้ำนมออกโดยการให้ลูกดูดหรือปั๊มออก เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บน้ำนมที่ผลิตออกมาใหม่ ถ้าปล่อยให้เต้าเต็มบ่อยๆ จะเป็นการส่งสัญญาณว่าความต้องการน้ำนมลดลง ร่างกายจะผลิตน้ำนมลดลง

ร่างกายเราจะผลิตน้ำนมตอบสนองตามความต้องการของน้ำนมที่ระบายออก (ทั้งลูกดูด/ปั๊มด้วยเครื่อง/บีบด้วยมือ) ยิ่งระบายออกมาก ยิ่งผลิตมาก ถ้าระบายออกน้อย จะผลิตน้อย เวลาที่เราพูดคำว่า "เกลี้ยงเต้า" นั้น แท้จริงแล้วหมายถึง การระบายจนน้ำนมส่วนใหญ่ออกจากเต้าเกือบหมดเท่านั้นเองค่ะ ไม่ใช่เกลี้ยงจนไม่เหลืออะไรเลย ลองคิดถึงการบ้วนน้ำลายก็ได้ค่ะ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะบ้วนน้ำลายจนเกลี้ยงปาก เพราะน้ำลายจะถูกผลิตอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

กลับมาพูดถึงการให้ลูกดูดหรือเครื่องปั๊ม แบบไหนเกลี้ยงเต้ากว่ากัน ประเด็นนี้ก็สร้างความเข้าใจผิดได้มากทีเดียว เพราะการที่จะบอกว่าลูกหรือเครื่องปั๊ม แบบไหนเกลี้ยงเต้ากว่านั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่ะ ถ้าร่างกายผลิตน้ำนมได้พอดีๆ กับความต้องการของลูก ลูกจะดูดได้มากกว่าเครื่องปั๊ม เพราะน้ำนมที่เหลือน้อยๆ ลึกๆ ลูกดูดได้ดีกว่า แต่ถ้าร่างกายผลิตน้ำนมได้มากกว่าที่ลูกต้องการ การปั๊มนมจะปั๊มออกมาได้มากกว่าลูกดูด เพราะลูกจะดูดน้ำนมเท่าที่เขาต้องการเท่านั้น เมื่ออิ่มแล้วก็จะหยุดดูด แม้ว่าจะยังอมหัวนมแม่อยู่ แต่ลักษณะการดูดจะเปลี่ยนไป คือดูดเล่น ไม่เหมือนดูดกิน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ที่ปั๊มนมบ่อยๆ มีปริมาณน้ำนมเหลือเฟือ เพราะเราใช้เครื่องปั๊มนมหลอกร่างกายว่ามีความต้องการน้ำนมมากๆ ถ้าให้ลูกดูดอย่างเดียวโดยไม่ปั๊ม น้ำนมจะผลิตออกมาน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เพียงพอนะคะ ให้ลูกดูดตลอดเวลาโดยไม่บีบหรือปั๊มเลย น้ำนมก็พอสำหรับลูก แต่ไม่มีเหลือเก็บเท่านั้นเอง

อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นก็คือ ถ้าร่างกายสามารถตอบสนองเครื่องปั๊มได้ดี (กลไกการหลั่งน้ำนมทำงานในขณะปั๊ม สังเกตได้จากการรู้สึกจี๊ดๆ แล้วน้ำนมพุ่งแรง อาจจะเกิดขึ้นได้หลายครั้งก็ได้ในการปั๊มแต่ละรอบ) เมื่อปั๊มเสร็จ (น้ำนมหยุดไหล เต้านิ่ม) เครื่องปั๊มนมจะสามารถระบายน้ำนมออกจากเต้าได้ประมาณ 80% หากบีบด้วยมือต่ออีกสักพัก อาจจะนำน้ำนมออกมาได้อีกสัก 10% แล้วก็จะบีบไม่ค่อยออก แต่ถ้าให้ลูกดูดต่อ ลูกก็จะดูดได้อีกประมาณ 5% ถ้าลูกหิว แล้วให้ดูดตอนท้ายแบบนี้ ลูกจะหงุดหงิดมาก เพราะเหลือน้ำนมน้อยมากแล้ว อีก 5% ก็จะค้างอยู่ในเต้า รอสัก 2-3 นาที ก็จะบีบออกมาได้อีก ไม่มีทางเกลี้ยงจริงๆค่ะ

คุณแม่ที่กังวลว่าลูกไม่ดูดเต้าเลย จะเลี้ยงนมแม่ได้นานแค่ไหน เลิกกังวลได้เลยค่ะ ตราบใดที่ไม่ขี้เกียจปั๊ม จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหนก็ได้ จะว่าไปคนที่ขยันๆ ปั๊มแต่ลูกไม่ดูด ผลิตน้ำนมได้มากกว่าคนที่ลูกดูดแต่ขี้เกียจปั๊มเสียอีก อย่าง webmother เอง ทำงานส่วนตัว ลูกดูดจากเต้ามากกว่าปั๊ม พอได้ 7-8 เดือนก็ปั๊มน้อยลง ลูกก็เริ่มกินอาหารเสริมมากขึ้น รู้เลยว่าน้ำนมน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่พอนะคะ เพราะลูก webmother ไม่ได้กินนมผสมเลยค่ะ ในขณะที่คนที่ปั๊มสม่ำเสมอ บางคนปีนึงแล้วก็ยังปั๊มได้ปริมาณเท่าๆ กับตอนหกเดือน แต่ของ webmother ตอนครบปี ปั๊มได้น้อยมากๆ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ ไม่ว่าจะให้ลูกดูดเต้า หรือปั๊มให้กิน จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหนก็ได้ตามต้องการค่ะ ขอให้สม่ำเสมอกับการปั๊มหรือลูกดูดเท่านั้นเอง

สำหรับคนที่ปั๊มนมเป็นประจำ แล้วตอบสนองกับเครื่องได้ดี คือกลไกการหลั่งน้ำนมทำงานทุกครั้ง จี๊ดไป 2-3 รอบแล้ว เต้านิ่มแล้ว จะต้องบีบด้วยมือต่อให้เกลี้ยงที่สุดเท่าที่จะเกลี้ยงได้หรือไม่นั้น ขอบอกว่าไม่จำเป็นนะคะ ทำหรือไม่ทำก็ได้ค่ะ สิ่งที่ควรทำคือ ปั๊มบ่อยๆ อย่าทิ้งช่วงนานมากกว่าค่ะ ระบายออก 80% ทุก 2-3 ชม. ร่างกายจะผลิตน้ำนมได้มากกว่าระบายออก 95% ทุก 4-5 ช.ม.ค่ะ

ส่วนคนที่เริ่มใช้เครื่องปั๊มนมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนจากปั๊มมือเป็นปั๊มไฟฟ้า หรือไม่เคยใช้เครื่องปั๊มนมมาก่อนเลยนั้น ขอให้ทำใจร่มๆ ก่อนนะคะ อย่าพยายามกดดันตัวเอง ด้วยการเอาไปเปรียบเทียบกับคนที่เขาเป็นมือโปรแล้ว การปั๊มนมก็เป็น skill ที่ต้องฝึกและเรียนรู้ค่ะ บางคนก็เรียนรู้เร็ว บางคนก็เรียนรู้ช้า ส่วนใหญ่คนที่เรียนรู้เร็ว จะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ไม่ขี้กังวล ทำอะไรก็ชิลล์ๆ ฮอร์โมนในการผลิตน้ำนมจะหลั่งได้ดีถ้าไม่มีความเครียดค่ะ คนที่เครียดมาก กังวลมาก คาดหวังสูง ฮอร์โมนจะไม่หลั่ง น้ำนมจะไม่ออก

วิธีฝึกที่ง่ายที่สุดคือใช้ลูกเป็นตัวช่วยค่ะ ให้ลูกดูดข้างนึง แล้วปั๊มอีกข้างนึงไปพร้อมๆ กัน เพราะเวลาที่ลูกดูดนั้น กลไกการหลั่งน้ำนมจะทำงานได้ดี เพราะเรามีความรักต่อลูก บางคนไปทำงาน แค่นึกถึงลูก น้ำนมก็พุ่งเลย บางทีเสื้อเปียกไม่ทันรู้ตัว ฝึกบ่อยๆ ก็จะรู้จังหวะ แล้วก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้วมันง่ายนิดเดียว

การกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมก่อนการปั๊มนม จะช่วยให้ปั๊มนมได้ง่ายและเร็วขึ้น คนที่อารมณ์ดีๆ มีความสุขกับการปั๊มนม ฝึกจนโปรแล้ว แค่เอากรวยมาครอบเต้าก็จี๊ดได้เลย แต่คนที่ยังไม่โปรก็สามารถหัดกระตุ้นได้ด้วยการใช้มือนวดคลึงหัวนมเบาๆ (คลิกเพื่อดู VDO) นึกถึงลูกเยอะๆ เล่นเฟซ ดูทีวีเพลินๆ ในขณะที่ปั๊มนม อย่าเอาแต่นั่งจ้องว่าน้ำนมไหลหรือยัง ได้แค่ไหนแล้ว เพราะจะยิ่งเครียด น้ำนมจะยิ่งไหลน้อยค่ะ

ปั๊มนมใหม่ๆ ได้น้อย ก็อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ หนทางยาวไกล จะถึงเป้าหมายได้ เริ่มจากก้าวแรกทั้งนั้นค่ะ ขยันๆ ปั๊ม ฝึกชั่วโมงบินสะสมไปเรื่อยๆ น้ำนมเพิ่มทุกคนค่ะ เริ่มต้นใหม่ๆ อย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่นให้เสียกำลังใจ ดูแค่ตัวเองค่ะว่าวันนี้ได้เท่านี้ พรุ่งนี้ขยันมากกว่านี้ น้ำนมก็จะมากกว่านี้ เชื่อไหมคะ เผลอแป๊บเดียว ต้องซื้อตู้แช่แล้ว webmother ทำเว็บนี้มา 7 ปีแล้ว คนที่เดินไม่ถึงเป้าหมาย คือคนที่หยุดเดินก่อนค่ะ ถ้าไม่หยุดเสียก่อน ถึงทุกคน คนไหนเดินช้า ถึงช้า คนไหนเดินเร็ว ถึงเร็ว เพื่อลูก เชื่อว่าแม่ทุกคนทำได้ ขอเป็นกำลังใจให้แม่ทุกคนค่ะ :)

webmother@breastfeedingthai.com


No comments:

Post a Comment

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์

Creative Commons License
บทความต่าง ๆ ในบล็อก nommae.blogspot.com โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ nommae.blogspot.com.