Wednesday, June 30, 2010

อย่าบอกว่าดีเหมือนกัน

คนเขียนไม่ได้เป็นแม่ และคงไม่มีโอกาสได้เป็นแม่ในชาตินี้ แต่ตกกระไดพลอยโจนมารับรู้เรื่องนมแม่ เพราะพี่สาว (ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพูดว่า ชาตินี้จะไม่มีลูก เพราะการมีลูกเป็นการสร้างกรรมต่อเนื่องต่อไป พี่สาวคนนี้ปัจจุบันเป็นแม่ลูกสาม) มีลูกและพยายามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็ประสบปัญหาตามประสาแม่มือใหม่ ก็พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ถึงพี่สาวจะไม่ใช่ Gen-X แต่ก็ยังไม่ตกคลื่นเทคโนโลยีซะทีเดียว เลยยังรู้จักหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ทบ้าง สมัยเมื่อ ๗-๘ ปีที่แล้วข้อมูลในเว็บภาษาไทยไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไรมาก แต่ข้อมูลภาษาอังกฤษนี่มีเพียบ อ่านแล้วก็อยากจะเอามาแบ่งปันให้คนอื่นได้อ่านมั่ง ก็เลยมาบังคับให้คนเขียนช่วยแปลให้ ตอนแรก ๆ ก็อ่าน ๆ แปล ๆ ไปงั้นเอง ตอนหลังอ่านเยอะ ๆ เข้าก็ชักอิน เลยกระโดดเข้าสู่สงครามน้ำนม เป็นนักรบนมแม่ที่เห็นโฆษณานมผสม/นมผงในทีวีหรือนิตยสารทีไร ก็อยากยิงทิ้ง และรู้สึกของขึ้นตลอดเวลา

หลังจากนั้นก็พยายามชักชวนให้เพื่อนหรือคนรู้จักที่มีลูกให้ลูกกินนมแม่ คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้คือ ก็ตั้งใจจะให้กินนะ แต่นมไม่พอ พอถามกลับไปว่าคิดไปเองหรือเปล่า แม่ทุกคนต้องมีนมพอให้ลูกกิน มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถ้าไม่มีนมพอให้ลูกกิน มนุษยชาติต้องสูญสิ้น เขาตอบกลับมาว่า คนที่ไม่เป็นแม่อย่างคนเขียน ก็พูดได้แต่ตามทฤษฎีนั่นแหละ ทางปฏิบัติมันไม่เป็นอย่างนั้น

ทุกวันนี้แม่ร้อยละเก้าสิบเก้า บอกว่านมไม่พอ ยังไม่เคยเจอใครบอกว่า ฉันนมเยอะมวากกกก... (คนเขียนเข้าใจเอาเองว่า ความเชื่อเรื่องนมไม่พอเป็นอุปทานหมู่ ที่บริษัทนมผงทำให้เกิดขึ้น)

คนเขียนมีเพื่อนคนหนึ่ง หน้าอกเล็กมากถึงมากที่สุด เลี้ยงลูกสองคนด้วยนมแม่ล้วน ๆ สิ่งที่เพื่อนท่องไว้ตอนคลอดลูกคนแรกคือ โลกนี้ไม่มีนมผง เพราะฉะนั้นเพื่อนก็จะทำทุกวิถีทางที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วก็ทำได้สำเร็จ พอเล่าเรื่องนี้ไป ก็จะยังมีคนแย้งว่า มันแล้วแต่คน คนที่มีน้ำนมก็เลี้ยงได้ แต่ฉันไม่มีนมจริง ๆ พยายามถึงที่สุดแล้ว ก็ยังไม่มี/ไม่พอจริง ๆ คนไม่เป็นแม่ (อย่างเธอ) ไม่เข้าใจหรอก

บางคนก็บอกว่าหัวนมบอด/บี้/แบน ลูกไม่ยอมดูด (คำตอบในทางทฤษฎี คือ ลูกของคุณเกิดมาครั้งแรก เขาไม่มีทางรู้หรอกว่าหัวนมคนอื่นเป็นยังไง แต่หัวนมของแม่คือแหล่งอาหารที่ประเสริฐที่สุดของเขา และเป็นหัวนมที่สมบูรณ์แบบบที่สุดสำหรับเขา เพราะฉะนั้นอย่าให้คนอื่นมาบอกว่าหัวนมคุณผิดปกติ  ส่วนคำตอบในทางปฏิบัติ พวกคุณแม่ ๆ ตอบกันเอาเองนะคะ)

สิ่งที่คนไม่เคยเป็นแม่อย่างคนเขียนอ่านมาไม่รู้กี่ร้อยรอบ (แต่คิดว่าคนเป็นแม่จริง ๆ อาจจะได้ยินน้อยเกินไป) คือ การให้ลูกกินนมแม่เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ไม่มีใครเกิดมาแล้วทำเป็นเลย ทักษะนี้แม่ต้องเรียนรู้และลูกต้องเรียนรู้

ลองนึกถึงทักษะอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน (เช่น การทำกับข้าว เรียนภาษา ขับรถ ขี่จักรยาน ฯลฯ) บางคนมีพรสวรรค์ ทำครั้งแรกก็ทำได้ดีเลย บางคนต้องการการฝึกฝนมาก ๆ บางคนทำตั้งนานแล้วก็ยังทำได้ไม่ดี สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถ้าแม่ลูกคู่ไหนที่มีทักษะดี ก็จะไม่มีปัญหามาก แต่ถ้าแม่หรือลูกเรียนรู้กันช้า ก็เกิดปัญหาขึ้น ก็ต้องพยายามแก้ปัญหาให้ได้

ในโลกปัจจุบันที่ใคร ๆ ก็รู้ว่ามีนมผงสำหรับทดแทนนมแม่ มีคนจำนวนมากที่คิดว่านมผงก็ดีพอ ๆ กับนมแม่ ยิ่งไปกว่านั้นมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่คิดว่านมผงดีกว่านมแม่ (นี่ก็อุปทานหมู่ที่สร้างขึ้นโดยโฆษณาหรูหราของบริษัทนมผง) เมื่อแม่เริ่มรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยากลำบากหรือเป็นปัญหา "ทางแก้ปัญหา" อัตโนมัติ คือ ให้ลูกกินนมผง

ถ้าพ่อแม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริงว่ามีอันตรายมากแค่ไหนที่มาพร้อมกับนมผง (อันตรายในระยะยาวที่เกิดจากการได้รับสารสังเคราะห์ต่าง ๆ ก่อนที่ร่างกายทารกของจะพร้อมรับ อันตรายระยะใกล้จากการแพ้นมวัว/แพะ/ถั่วเหลือง อันตรายแบบคาดไม่ถึงจากความผิดพลาดในการผลิต เช่นมีสารพิษปนเปื้อน ส่วนผสมผิดสัดส่วน อันตรายจากความผิดพลาดของพ่อแม่เอง เช่น ล้างขวดนมไม่สะอาด ชงนมผิดส่วน ฯลฯ) พ่อแม่จะลังเลมากขึ้นที่จะให้ลูกกินนมผง พ่อแม่จะพยายามมากขึ้นในการแก้ปัญหาการให้ลูกกินนม พ่อแม่จะไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ

คุณแม่ที่ล้มเหลวจากการให้ลูกกินแม่ อาจจะมีคำพูด (ปลอบใจตัวเอง) ว่า อยากให้ลูกกินนมแม่มาก ๆๆๆๆ แต่ให้ไม่ได้ ไม่มีนม นมไม่พอ ตอนนี้ให้ลูกกินนมผง ลูกก็แข็งแรงดี พัฒนาการดี ไม่ป่วยง่าย แทบไม่ต่างจากเด็กที่กินนมแม่เลย

ถ้าคุณแม่อยากให้ลูกกินนมแม่ และพยายามจนถึงที่สุดแล้ว แต่ให้ไม่สำเร็จ คนเขียนก็ขอแสดงความเสียใจและเห็นใจที่พวกคุณโชคร้าย แต่พวกคุณไม่ได้โชคร้ายที่มีนมไม่พอ (เพราะต่อให้โดนด่าแค่ไหน คนเขียนก็ยังจะย้ำว่า มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะฉะนั้นต้องมีนมให้ลูกกิน)

พวกคุณโชคร้ายที่ไม่มีโอกาสได้เริ่มต้นเรียนรู้การให้นมลูกอย่างถูกต้อง โชคร้ายไม่ได้รับความช่วยเหลือมากพอเมื่อเกิดปัญหา โชคร้ายที่ไม่ได้รับข้อมูลมากพอในการตัดสินใจ โชคร้ายที่คุณอยู่ในยุคที่นมผงหาได้ง่ายกว่าเดิม (แต่ไม่ได้ราคาถูกกว่าเดิมนะ เพราะเราคงเคยได้ยินข่าวแม่ลูกอ่อนไปขโมยนมผงในห้าง) จนทำให้ล้มเหลวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ในขณะเดียวกันคนเขียนก็ต้องขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ที่สามารถพูดได้ว่า "ลูกกินนมผงก็แข็งแรงดี พัฒนาการดี ไม่ป่วยง่าย" ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี โชคดีที่ลูกของคุณแม่สามารถรับนมผงได้โดยไม่มีปฏิกริยา ไม่ต้องลองผิดลองถูกเปลี่ยนนมไม่รู้กี่ยี่ห้อ ไม่ต้องเทียวเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเพราะป่วยกระเสาะกระแสะ

แต่คนเขียนไม่เห็นด้วยเลยที่จะบอกว่า ลูกของคุณที่กินนมผง "แทบไม่ต่างจากเด็กที่กินนมแม่เลย"

เราไม่มีทางเปรียบเทียบทารกที่กินนมแม่กับนมผงได้อย่างแท้จริง เพราะเราไม่สามารถทำการทดลองที่ควบคุมได้กับทารก เด็กแต่ละคนมีทางเลือก คือ กินนมแม่ กินนมผง หรือกินนมผง+นมแม่ เป็นทางเลือกแบบเลือกแล้วเลือกเลย คุณแม่จะไม่มีทางรู้ว่าลูกตัวเองจะ "แตกต่าง" ไปจากนี้มากแค่ไหน จะแข็งแรงมากขึ้นไปอีก มีพัฒนาการดีมากขึ้นไปอีกแค่ไหน ถ้าได้กินนมแม่ล้วน ๆ

ถ้าจะทำการทดลองกันจริง ๆ การทดลองกับกับเด็กฝาแฝดน่าจะให้ผลได้ใกล้เคียงควาจริงมากที่สุด โดยให้แฝดคนหนึ่งกินนมแม่ อีกคนกินนมผง แต่ใครจะทำการทดลองอย่างนั้น คนเป็นแม่คงไม่ยอมทดลองกับลูกตัวเอง แต่ไม่ต้องทดลองอย่างนั้น คนเขียนก็มีความเชื่อส่วนตัว (ที่มีอคติต่อนมผงอย่างเห็นได้ชัด) ว่าผลจะออกมาว่าเด็กที่กินนมแม่จะเหนือกว่าอยู่ดี

ที่เขียนมายืดยาวขนาดนี้ คงขัดเคืองใจคนให้ลูกกินนมผงมากกก แต่อยากบอกว่าที่พลาดไปแล้วก็พลาดไป ถ้าหากมีโอกาสแก้ตัว (ไม่ว่าจะกับตัวเองหรือคนรอบข้าง) อยากให้ช่วยกันรังเกียจนมผงให้มากกว่านี้ อย่ายอมเชื่อง่าย ๆ ว่านมผงหรือนมแม่ก็ดีเหมือนกัน อยากให้ลองหลอกตัวเองดูว่า โลกนี้ไม่มีนมผง และขอให้ทุกคนไม่ต้องโชคร้ายจนล้มเหลวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกครั้ง...

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์

Creative Commons License
บทความต่าง ๆ ในบล็อก nommae.blogspot.com โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ nommae.blogspot.com.