การแยกกับลูกออกจากกันในระหว่างพักฟื้นที่โรงพยาบาลกลายเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ในหลาย ๆ ประเทศ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานว่าการแยกทารกแรกคลอดจากแม่จะมีผลในทางลบต่อร่างกายและอารมณ์ของทั้งลูกและแม่
ข้ออ้างที่ใช้เป็นเหตุผลคือเรื่องของความสะอาดและสุขอนามัย แต่ไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นใดเลยที่แสดงว่าอัตราการติดเชื้อในทารกที่ถูกแยกจากแม่จะน้อยกว่าทารกที่อยู่กับแม่ตลอดเวลา
หลักฐานที่มีอยู่กลับแสดงผลในทางกลับกัน คือทารกที่ถูกแยกจากแม่มีอัตราการติดเชื้อมากกว่า และอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกคลอดจะลดลง ถ้าแม่ได้มีโอกาสอยู่กับลูกตลอดเวลาเพื่อให้นมลูกและดูแลลูก
ทารกที่อยู่กับแม่ผู้ซึ่งใช้ร่างกายตัวเองปกป้องทารกมาตลอดเวลาเก้าเดือนและพร้อมที่จะให้ภูมิคุ้มกันลูกด้วยน้ำนมแม่ ย่อมต้องปลอดภัยกว่าอยู่กับเจ้าหน้าที่และพยาบาลที่ทำได้แค่ป้อนนมผสมให้กับทารก
การผลิตน้ำนมแม่ เป็นไปตามกฏของอุปสงค์กับอุปทาน ยิ่งทารกดูดนมมาก ร่างกายแม่ก็ยิ่งผลิตนมออกมามาก
ทารกที่มีสุขภาพดีและกำลังหิวเป็นผู้ผลิตนมที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก เพราะสามารถกระตุ้นให้เกิดน้ำนมในปริมาณที่ตัวเองต้องการได้โดยการดูดนมจากอกแม่
การระงับความหิวหรือกระหายของทารกด้วยอาหารหรือของเหลวอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ ทำให้การดูดนมแม่ยากลำบากขึ้น พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ไม่อยากฝืนกินอาหารเวลาที่เรารู้สึกอิ่ม ทารกก็รู้สึกเช่นเดียวกัน
ถ้าพยาบาลป้อนนมผสมหรือน้ำกลูโคสให้ทารก เขาก็จะไม่อยากจะดูดนมจากอกแม่ ทารกจะลดปริมาณการผลิตน้ำนมของแม่ไปโดยอัตโนมัติ เพราะท้องที่อิ่มส่งสัญญาณว่าให้กระตุ้นการสร้างน้ำนมน้อยลง ร่างกายของแม่รับสัญญาณว่าทารกไม่ได้ต้องการน้ำนมมาก ก็จะลดปริมาณการผลิตน้ำนมลง
ความอยากกินนมของทารกเชื่อมโยงโดยตรงกับสารอาหารและปริมาณน้ำนมที่เขาต้องการ ทารกสามารถเพิ่มหรือลดปริมาณน้ำนมและปรับสมดุลของสารอาหารในน้ำนมแม่ได้อย่างเหมาะสม ถ้าเขามีโอกาสได้ดูดนมแม่ตามความต้องการ แต่ถ้าทารกกับแม่แยกกันอยู่ เขาก็ไม่สามารถกระตุ้นน้ำนมแม่ได้
ทารกอาจจะส่งสัญญาณว่าต้องการกินนมโดยหันศีรษะ อ้าปากและแลบลิ้นออกมา หรือส่งเสียงเบา ๆ (ทารกสามารถ "พูด" ได้เร็วกว่าที่พวกเราคิด)
แต่ถ้าทารกถูกแยกไปอยู่ในห้องเด็กก็จะไม่มีใครสังเกตเห็นสัญญาณนี้ เขาจึงต้องร้องไห้เพื่อให้พยาบาลรับรู้ความต้องการ และกว่าที่พยาบาลจะพาลูกมากินนมแม่ ทารกอาจจะหิวหรือเหนื่อยเกินไป จนหมดแรงที่จะดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราทุกคนน่าจะเคยรู้สึกหิวมาก ๆ แต่ก็หงุดหงิดจนกินอะไรไม่ลง เรามักจะลืมไปว่าทารกก็เป็นคนเหมือนกัน เวลาเราไปร้านอาหาร ถ้าเราต้องตะโกนจนเสียงแหบกว่าพนักงานเสิร์ฟจะมารับออร์เดอร์ และถ้าเราต้องรอนานมากกว่าอาหารจะมา เราก็คงไม่พอใจ เวลาที่ทารกหิวแล้วไม่ได้รับการตอบสนองรวดเร็ว ก็เป็นเช่นเดียวกัน
มีงานวิจัยที่แสดงว่า แม่ที่ได้นอนกับลูกของตัวเองตอนกลางคืน จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ดีกว่าแม่ที่นอนแยกกับลูก แม่กระทั่งในระหว่างหลับ แม่ก็ยังรับรู้จังหวะและตอบสนองการดูดนมของลูกได้ตลอดทั้งคืน แม่ส่วนใหญ่จะปรับท่านอนโดยอัตโนมัติ แขนอยู่เหนือหัวลูก ศีรษะและเข่างอเข้าหากัน เป็นท่าที่จะปกป้องลูกจากอันตราย
แม่ลูกที่ได้นอนด้วยกันจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จมากกว่าแม่ลูกที่นอนแยกกัน การให้ลูกได้ดูดนมตั้งแต่เนิ่น ๆ และดูดบ่อย ๆ ช่วยให้น้ำนมมาเร็วขึ้น ความใกล้ชิดทางกายระหว่างแม่กับลูก ทำให้ขบวนการนี้เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น
No comments:
Post a Comment