Wednesday, September 17, 2014

ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด (ตอนที่ 3 จุกนมแบบไหนดี)



อยากรู้ล่ะสิว่า จุกแบบไหนดี มาค่ะ มาดูกัน วันนี้พี่จะชี้ทางสว่างให้ ^_^

ก่อนอื่น ดูรูปประกอบกันก่อนค่ะ
ด้านบนเป็นลักษณะของหัวนมแม่จริงๆ 8 รูปแบบ
ผู้หญิงทั้งโลกจะมีรูปแบบของหัวนมแตกต่างกันจัดกลุ่มได้ประมาณนี้
ส่วนด้านล่างเป็นจุกเสมือนนมมารดาหลากรุ่น หลายยี่ห้อที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด

นี่แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะคะ ของจริงเยอะกว่านี้
เปรียบเทียบกันแล้วรู้สึกว่ายังไงคะ เหมือนกันมากไหมคะ
เหมือนสุดๆ ไปเลยนะเคอะ เหมือนจะโดนหลอกล่ะสิ
อย่าว่าแต่เหมือนหัวนมแม่คนไหนเลย
แค่จะเหมือนกันเอง แต่ละยี่ห้อยังไม่เหมือนกันเลย

ตอนซื้อหลุยส์ก๊อป คุณแม่พลิกซ้าย ขวา หน้าหลัง
ดูตะเข็บ ดูซิป ดูโลโก้ ดูทั้งข้างนอก ข้างใน
พยายามหาว่าตรงไหนที่มันไม่เหมือน
แต่พอซื้อจุกนมให้ลูก เคยเปิดเต้าตัวเองมาเทียบกับจุกนมที่จะให้ลูกกินมั้ยคะ
ไม่ต้องเทียบก็ซื้อมาได้เนอะ พอลูกไม่ยอมดูด ก็โกรธลูกอีกตะหาก

เพียงแค่เห็นโฆษณาจุกนม ที่เขาบอกกับเราว่า “เสมือน” หัวนมมารดา
บรรยายสรรพคุณว่ามันเหมือนยังไง เราก็ต้องมนต์สะกดทันที
ทำไมเราเชื่อคนง่ายจัง...

จากจุกนมธรรมดาราคา 29 บาท
เปลี่ยนชื่อเป็นจุกเสมือนนมมารดา ราคา 240 บาท
รู้สึกว่าราคาสมเหตุสมผลขึ้นมาทันที
อืมม.. ต้องลองซะหน่อย เผื่อลูกจะยอมดูด

แล้วผลเป็นไงคะ?
ลูกไม่ดูด ลองตั้งแต่จุกละร้อยกว่าจนเกือบพัน ก็ยังไม่ดูด

เพราะอะไร?
ก็เพราะว่ามันไม่เหมือนไงคะ ไม่เคยเหมือนและก็ไม่มีทางเหมือน
ไม่ว่าจะพยายามขนาดไหน ก็ทำให้เหมือนไม่ได้ค่ะ
ลูกน้อยดูดเต้าแม่ทุกวัน ลูกฉลาด (กว่าแม่) ค่ะ
เขารู้ว่าของจริงเป็นยังไง ของปลอมและของเลียนแบบเป็นยังไง หลอกเขาไม่ได้ค่ะ
เพราะฉะนั้น การที่ลูกไม่ยอมดูดจุกนมปลอมๆ จึงเป็นเรื่องปกติค่ะ

เวลาที่เอาขวดป้อน แล้วลูกร้องว้ากๆๆๆๆ น่ะค่ะ
ลองฟังดีๆ นะคะ อย่าฟังแต่หู ต้องใช้หัวใจฟังด้วยค่ะ
ฟังแล้วก็จะแปลออกว่า ลูกกำลังบอกว่า...
“ไม่เอาๆๆๆๆๆ มันไม่ใช่ๆๆๆๆ มันไม่เหมือนๆๆๆๆ เข้าใจมั้ยยยยยย”

คุณแม่บางคนที่ (ขออนุญาตนะคะ) ยัดเยียดให้ลูกกินขวดได้สำเร็จ
หลังจากลองมาหลายยี่ห้อ มักจะช่วยโฆษณาให้จุกยี่ห้อนั้นว่า
“ดีนะ เหมือนมาก ราคาแพงหน่อย แต่ลูกเรายอมดูด”

พี่อยากจะถามว่า “แน่ใจหรือ?”
ความจริงมันอาจจะแค่ว่า ลูกน้อยยอมแพ้ก็ได้ค่ะ
หลังจากที่ร้องบอกจนเสียงแหบเสียงแห้งทุกวันว่า
“ไม่เหมือนๆๆๆๆ ไม่เอาๆๆๆๆ”

แต่ดูเหมือนแม่หรือยายจะไม่เข้าใจ เอามาให้ทุกวันๆๆๆ
จนหนูก็เหนื่อยหน่ายแล้ว แล้วก็ยอมในที่สุด
ไม่ใช่ว่าจุกนั้นมันดีกว่า เหมือนกว่า
มันแค่ timing พอดีกับที่ลูกยอมแพ้ต่างหาก

เพราะฉะนั้นถ้าจะหัดให้ดูดขวด
ใช้จุกไหนก็ได้ค่ะ เพราะมันไม่เหมือนทั้งนั้น
เลือกเอาตามพอใจแล้วก็ใช้จุกนั้นแหละค่ะ
หัดทุกวันๆ ไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนเป็นอันโน้น อันนี้
หัดไปเรื่อยๆ ถ้าลูกยอม เดี๋ยวเขาก็ยอมเอง

ถ้าเขาไม่ยอมก็ป้อนช้อนแทนไปเลยค่ะ
คุณย่าคุณยายที่อยากป้อนข้าว ป้อนกล้วยก็ให้ป้อนนมแม่แทนไปก่อน
win-win ทั้งสองฝ่ายค่ะ

ทารก “ไม่จำเป็น” ต้องกินนมจากขวดค่ะ

Monday, September 15, 2014

ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด (ตอนที่ 2 แม่ต้องไปทำงาน)


เมื่อวานเราเข้าใจตรงกันแล้วนะคะ ว่าลูกติดเต้าเป็นเรื่องปกติ
เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่เรื่องใหญ่
คราวนี้มาดูกันว่า ถ้าแม่ไปทำงาน แต่ลูกไม่ยอมดูดขวด จะทำยังไงดี
เด็กที่ “เลือกกิน” กับ “กินไม่เลือก” นั้นต่างกัน
เด็กนมแม่แบบที่ “กินไม่เลือก” มักจะกินง่าย อยู่ง่าย
ยอมกินทั้งเต้าและขวดแต่โดยดี ลูกสาวคนโตของพี่เป็นแบบนี้ค่ะ
มีเต้า กินเต้า ไม่มีเต้าก็กินขวด แรกๆ ที่หัดก็เหมือนจะไม่ยอม
แต่หัดบ่อยๆ 3-4 วันก็ชิน ยอมกินแต่โดยดี
ส่วนเด็กที่ “เลือกกิน” นั้นจะไม่ง่าย ไม่ยอมกิน
เทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะหัดขวดวันละครั้ง
เปลี่ยนจุกสารพัด เปลี่ยนท่า เปลี่ยนคนป้อน
ล้วนแล้วแต่ใช้ไม่ได้กับเด็กประเภทนี้
ยังไงๆ ก็ไม่ยอมกิน ลูกชายสองคนเล็กของพี่เป็นแบบนี้ค่ะ
ถ้าเจอเด็กแบบนี้ คนอื่นๆ ในครอบครัวจะกดดันแม่
โทษว่าเป็นความผิดของแม่ ทำให้ลูกติดเต้า
แล้วก็พยายามพรากลูกจากอกแม่ ถูกสั่งห้ามไม่ให้ใกล้ลูก
ไม่ให้ลูกดูดเต้าอีก เพื่อที่จะให้ลูกลืมเต้าแม่
อะไรจะขนาดนั้นคะ โหดร้ายทารุณกันเกินไปค่ะ 
คุณแม่ที่เจอปัญหานี้ ฟังพี่นะคะ เรามีทางเลือก 2 ทางค่ะ
1.ถ้าห่วงลูกมาก อยากให้ลูกดูดเต้า อยากมีความสุขแบบพิเศษกับลูก
หากไม่มีปัญหาทางการเงิน ให้ลางานเพิ่มแบบไม่ต้องรับเงินเดือน
หรือลาออกมาเลี้ยงลูกเลยค่ะ ลูกโตแล้วค่อยกลับไปทำงานใหม่
2.แต่ถ้าจำเป็นต้องกลับไปทำงาน ก็กลับไปทำงานให้สบายใจค่ะ
ไม่ต้องกังวลเรื่องลูก ปล่อยให้เป็นภาระของคนเลี้ยงไปค่ะ
เด็กที่เลือกกิน จะยอมกินของที่ไม่ชอบเมื่อ ”หิว” ค่ะ
ถ้ายังทนได้อยู่ จะไม่กิน ร้องไป บ่นไป รอได้ หิวเมื่อไหร่ยอมกิน
แต่ก็จะกินนิดเดียว กินแค่กันตาย ลูกชายพี่สองคนเป็นแบบนี้ค่ะ
ละลายนม 4 ออนซ์ ดูดไม่ถึง 2 ออนซ์ กินแค่พอประทังชีวิต
รอแม่กลับมา พอเจอแม่จะซัดเต็มเหนี่ยว
กลางคืนก็จัดเต็ม จัดหนักตลอดทั้งคืน
เด็กแบบนี้ เราก็ให้เขาดูดก่อนไปทำงานให้เต็มที่
กลับมาจากทำงานก็เอาให้เต็มที่เช่นกัน
กลางวันทั้งวันกินรวมกันแค่ 3-4 ออนซ์ เป็นอะไรมั้ย
ลูกจะขาดสารอาหารมั้ย ขอบอกว่า ไม่เป็นอะไรค่ะ
เพราะเขาจะชดเชยด้วยการกินมากๆ ตอนกลางคืนเป็นการทดแทน
ไม่ใช่เรื่องแปลกนะคะ
เหมือนพวกเราผู้ใหญ่ กินกลางวัน 3 มื้อ กลางคืนไม่ต้องกิน
ลูกน้อยที่ “เลือกกิน” ก็แค่สลับเวลาค่ะ
กลางวันไม่กิน แต่ไปกินกลางคืนแทน
ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะได้นมไม่พอ
ช่วงเวลาที่ยากลำบากจะมีแค่ไม่กี่เดือน ซึ่งก็ไม่ทุกวันด้วยซ้ำ
เพราะเสาร์-อาทิตย์ก็ดูดได้ทั้งวันตามปกติ
พอครบ 6 เดือน ก็เริ่มอาหารปกติแล้ว
ถ้ากินได้ดี กลางวันก็ให้กินอาหารปกติเยอะหน่อย
นมน้อยไปบ้างก็ไม่เป็นไร กลางคืนเขาก็จะดูดเยอะเพื่อชดเชยเอง
ปัญหามันนิดเดียว...
ทำไมต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดห้ามดูดเต้าแม่ตลอดชีวิต
พี่เห็นหลายคนที่ลูกติดเต้า พอจะไปทำงาน
หัดขวดได้ กลัวลูกติดเต้า เลยเลิกให้ลูกดูดเต้า
ขอบอกว่าคุณไม่มีทางรู้ว่าชีวิตนี้พลาดอะไรไป
ความรู้สึกแบบที่เราคิดไม่ออกเลยว่าจะยอมแลกมันกับอะไร
คุณแม่ที่ให้ลูกดูดเต้าเกินขวบจะรู้ดีค่ะ
สุดท้ายนะคะ...
คุณแม่ที่ตั้งเป้าว่าจะให้นมแม่จนฟันแท้มาแบบป้าหมอสุธีรา
ต้องให้ลูกดูดเต้าค่ะ ห้ามเลิก บอกเลย
ไม่งั้นโอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ไม่ได้ขู่เล่นๆ ค่ะ เรื่องจริง

Sunday, September 14, 2014

ลูกติดเต้า ไม่เอาขวด (ตอนที่ 1 ทำไมถึงติดเต้า)


คุณแม่ทราบไหมคะว่า WHO เรียงลำดับอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกดังนี้

1.นมแม่ที่ลูกดูดโดยตรงจากอกอุ่นๆ ของแม่
2.นมแม่ที่บีบหรือปั๊มออกมาป้อนด้วยวิธีอื่น
3.นมแม่จากผู้บริจาคผ่านธนาคารนมแม่
4.นมผงดัดแปลงสำหรับทารก

ทำไมลูกถึงติดเต้า?

ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกไงคะ
พี่ไม่เข้าใจว่าทำไมการที่เด็กคนหนึ่ง
ซึ่งเป็นเด็กฉลาดและรู้ความต้องการของตัวเอง
เลือกในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาคือการดูดเต้าแม่
กลับกลายเป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ (มากๆๆๆๆ) ที่ต้องได้รับการแก้ไข

สำหรับพี่ คิดว่ามันไม่ make sense เลย
ลองนึกถึงร้านอาหารสุดโปรดที่เราเคยกิน
ร้านที่ยอดเยี่ยมมากๆ อร่อยที่สุด
อาหารเขาจะปรุงด้วยวัตถุดิบ สด สะอาด
ด้วยฝีมือของพ่อครัวชั้นเลิศ
รสชาติกลมกล่อมถูกปากเรามากๆ
คิดถึงทีไรก็น้ำลายสอทุกที

แล้วก็กลับกัน ลองเปรียบเทียบกันอาหารแช่แข็งในซุปเปอร์
เวลาจะกินต้องเอามาเวฟ แล้วก็กิน
ต่อให้หน้าตามันดูดีแค่ไหนก็เถอะ
รสชาติเทียบกับร้านสุดยอดของเราได้มั้ยคะ
ใกล้เคียงหรือเปล่า

น้ำนมแม่ที่ลูกดูดจากเต้าเปรียบเหมือนอาหารชั้นเลิศ
รสชาติอร่อย ถูกปาก อุณหภูมิเหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป
มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน เป็นทั้งวัคซีนและยารักษาโรค
ปริมาณพอดีเท่าที่ลูกต้องการ
เป็นทั้งออเดิร์ฟ และเมนคอร์ส พร้อมเสิร์ฟในทันที

ถามว่าในโลกนี้มีอาหารอะไรที่ดีกว่านี้อีกไหมคะ
นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว #TheBestForBaby

คุณแม่ที่ลูกติดเต้ามากๆ ควรจะภาคภูมิใจและดีใจว่า
ลูกเรารู้จักเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง
มีคนอีกเยอะมากๆๆๆๆ ที่ไม่สามารถให้ลูกดูดเต้าได้
ทั้งคุณแม่และลูกเป็นคู่ที่ใครๆ จะต้องอิจฉา

ลูกติดเต้าไม่ใช่ปัญหาค่ะ เป็นเรื่องที่ต้องชื่นชม
เป็นเรื่องที่ต้องอวด อวดว่าลูกเราฉลาด
รู้จักเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้เลย

คุณแม่ที่คิดว่าลูกติดเต้าเป็นข้อเสีย เป็นภาระกับคนเลี้ยง
อยากให้เลิกเต้า เปลี่ยนไปกินขวด
ขอบอกว่าคิดผิดนะคะ ผิดมากๆๆๆ
ขอให้กลับตัว กลับใจนะคะ คิดผิด คิดใหม่ได้
จำไว้ว่าลูกติดเต้า เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

คุณแม่ที่คิดว่าลูกติดเต้าเป็นข้อเสีย เป็นภาระกับคนเลี้ยง
อยากให้เลิกเต้า เปลี่ยนไปกินขวด
ขอบอกว่าคิดผิดนะคะ ผิดมากๆๆๆ
ขอให้กลับตัว กลับใจนะคะ คิดผิด คิดใหม่ได้
จำไว้ว่าลูกติดเต้า เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

#ติดเต้าดีกว่าติดขวด

เดี๋ยวพรุ่งนี้มาดูกันว่า แม่ต้องไปทำงาน ลูกติดเต้าทำไงดี

@พี่เก๋ ร้านนมแม่

เทคนิคฝึกลูกดูดเต้า (ฉบับ คุณแม่ใจเด็ด)


วันนี้เราจะมาดูวิธีฝึกลูกดูดเต้า สำหรับคุณแม่ใจเด็ดกันค่ะ วิธีนี้ใช้สำหรับคุณแม่ที่ปั๊มนมได้มากพอ ไม่กังวลเรื่องปริมาณน้ำนม แต่ลูกติดขวด ไม่เอาเต้า

ไม่มีอะไรมากค่ะ แค่ใช้วิธีหักดิบ ตัดสินใจได้เมื่อไหร่ ก็เปลี่ยนจากขวดเป็นเต้าเลย

ย้ำอีกครั้งนะคะ สาเหตุที่ลูกติดขวด เพราะเริ่มขวดก่อนเต้า ชินกับขวดมากกว่าเต้า เต้าคุณแม่ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ

ถ้าอยากให้ลูกดูดเต้า ก็เลิกขวดไปเลยค่ะ อย่าให้ทางเลือก ไม่ต้องละลายนมใส่ขวดเผื่อไว้นะคะ วิธีนี้ต้องทุบหม้อข้าวค่ะ แพ้ไม่ได้ ทำไมคนพม่ามาเมืองไทย พูดไทยได้ทุกคน เพราะไม่มีนายจ้างคนไหนหัดพูดพม่ากับคนพม่า เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องพูดไทยให้ได้

ลูกน้อยก็เหมือนกันค่ะ ถ้าไม่มีขวดให้กิน ก็ต้องยอมดูดเต้าในที่สุด ร้องแน่ๆ ร้องเอาเป็นเอาตาย แต่ไม่ตายแน่ค่ะ ไม่มีเด็กคนไหนร้องไห้จนตายได้

เด็กที่ร้องเก่งๆ ร้องมากๆ ร้องดังๆ แสดงถึงพลังชีวิตของเขาค่ะ อย่างมากก็ร้องจนเหนื่อย หมดแรงก็หยุด เดี๋ยวมีแรง ร้องต่อ เป็นแบบนี้ทุกคนค่ะ วัดกำลังกันว่าใครจะชนะ ใครจะยอมใครก่อน

อย่าลืมนะคะ ถ้าแม่ยอมแพ้ เท่ากับแพ้ทั้งคู่ แต่ถ้าแม่ชนะ ลูกยอมดูดเต้า ชนะทั้งแม่และลูกค่ะ

ปล. ใครจะใช้วิธีนี้ ต้องมั่นใจนะคะว่า "เอาอยู่" ไม่ใช่แค่ลูกอย่างเดียวนะคะ รวมถึงทุกคนในบ้านด้วย เพราะถ้าเอาไม่อยู่ คุณแม่เองจะลำบากค่ะ

Friday, September 12, 2014

5 เทคนิคฝึกลูกดูดเต้า (ฉบับ คุณแม่ใจอ่อน)













วันนี้พี่จะสอนวิธีฝึกลูกที่ไม่เอาเต้าให้กลับมาเอาเต้ากันค่ะ
เป็นวิธีฝึกสำหรับคุณแม่นักปั๊มที่มีน้ำนมแล้วนะคะ
ไม่ใช่สำหรับคุณแม่ที่ป้อนขวดด้วยนมผสม
แบบนั้นต้องกู้น้ำนม ไม่ใช่วิธีนี้ค่ะ

สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนฝึกก็คือ
คุณแม่ต้องเปลี่ยนความคิดก่อนนะคะ

บอกตัวเองให้ชัดๆ ว่าหัวนมเราไม่ได้มีอะไรผิดปกติ
ที่น้องไม่ดูดเพราะเราไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้องตั้งแต่แรก
ทำให้น้องดูดเต้าไม่ได้ ตอนนี้ที่ไม่ดูดก็เพราะไม่ชิน
ถ้าฝึกบ่อยๆ ฝึกเรื่อยๆ ก็จะดูดได้

มั่นใจในตัวเองนะคะ
จุกนมซิลิโคนจะมาดีกว่าหัวนมแม่ได้ไง
มั่นใจแล้วลุยเลยค่ะ

1. อย่าพยายามให้น้องดูดเต้าตอนหิวจัดๆ
เพราะน้องจะไม่ยอม และร้องบ้านแตก
ให้ดูดตอนอารมณ์ดีๆ หรือตอนง่วงๆ มึนๆ
ความสุขของทารกอยู่ที่ได้ดูดค่ะ
ดูดนิ้ว ดูดจุกหลอกยังดูดได้ ทำไมจะดูดเต้าแม่ไม่ได้

2. เสนอเต้า แต่อย่าบังคับ
หลังจากดูดขวดอิ่มแล้วสักครึ่งถึงหนึ่งชม.
ลอง skin to skin contact
อยู่กันสองคนแม่ลูก คนอื่นไม่เกี่ยว
เปิดเพลงเพราะๆ แม่ถอดเสื้อเหลือแต่เต้า
ลูกไม่ต้องใส่อะไรเหมือนแรกคลอด
หรือจะใส่แค่แพมเพิร์สกันฉี่ก็ได้

อุ้มลูกแนบอกให้ผิวลูกสัมผัสผิวแม่มากที่สุด
ลองให้ดูด ถ้าไม่ดูดก็อุ้มแนบอกไว้เฉยๆ
ทำทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที
ค่อยๆ สร้างความคุ้นเคย ใจเย็นๆ
มีจังหวะก็เสนอเต้าเข้าไปเรื่อยๆ

3. ถ้าลูกติดจุกมากจริงๆ ติดมานานหลายเดือน
ลองใช้ nipple shield (ตามรูป) มีหลายยี่ห้อ
ตามห้างก็มีขาย แต่ถ้าซื้อร้านนมแม่เป็นของ ardo ค่ะ ^^

Nipple Shield เป็นซิลิโคนปิดหัวนม
ให้ความรู้สึกคล้ายจุกนมที่ลูกเคยชิน
เมื่อลูกยอมดูดแล้ว ก็ค่อยๆ เลิกใช้

4. ระวังน้ำนมพุ่งแรงเกินไป
คุณแม่นักปั๊มส่วนใหญ่จะเป็นพวก over supply
เพราะฉะนั้น ก่อนให้ลูกดูดอาจจะปั๊มออกบางส่วน
เพื่อไม่ให้นมไหลแรงเกินไปจนลูกสำลัก

5. จำไว้ว่า ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก
กว่าเอดิสันจะประดิษฐ์หลอดไฟสำเร็จ
ยังเคยผิดพลาดถึงพันครั้ง
แต่พี่เชื่อว่าไม่มีเด็กคนไหนที่ต้องลองถึงพันครั้งหรอกค่ะ
ไม่เกินครั้งที่ร้อยแน่ รับประกัน ใครเกิน มารับรางวัล ^^

คุณแม่ที่ฝึกลูกไม่ได้ เพราะใจเราคิดไปแล้วว่าไม่ได้
พอลองครั้งแรกไม่ได้ ก็ย้ำกับตัวเองว่า "เห็นมั้ย ไม่ได้หรอก"
ครั้งที่ 2 ที่ 3, 4 ไม่ได้
ก็ยิ่งมั่นใจในตัวเองว่าตัวเองคิดถูกว่ามันไม่มีทางทำได้
แบบนี้คือหาทางตันให้ตัวเองค่ะ

ใจคุณอยากให้เป็นแบบนั้น แล้วมันจะสำเร็จได้ยังไง

ถ้าเชื่อว่าไม่ได้แต่แรก ก็อย่าพยายามเลยค่ะ เสียเวลาเปล่า
แต่ถ้าเชื่อว่าทำได้ พยายามเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้เองค่ะ

ใครทำสำเร็จ อย่าลืมมาอวดนะคะ พี่รอชื่นชมค่ะ ^^

@พี่เก๋ ร้านนมแม่

Tuesday, September 9, 2014

ลูกไม่ดูดเต้าค่ะ (ตอนที่ 2)




ห้ามให้จุกนม ขวดนม จุกหลอกกับทารกแรกคลอด

นี่เป็นข้อห้ามหนึ่งในสิบข้อ
ที่ WHO และ Unicef กำหนดไว้
สำหรับ Baby Friendly Hospital
หรือโรงพยาบาลสนับสนุนนมแม่

เพราะอะไรเราถึงต้องห้ามขวดนม จุกนม
เคยอ่านตำรากลยุทธ์มั้ยคะ

ชิงลงมือก่อน ได้เปรียบ

ลูกน้อยเพิ่งคลอดออกมา พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่
ให้อะไรก่อนก็เรียนรู้สิ่งนั้น
ถ้าให้ดูดเต้า ไม่ป้อนขวด ลูกก็จะเรียนรู้วิธีดูดเต้า
แต่ถ้าป้อนขวดก่อน ลูกก็จะเคยชินกับขวด ไม่เอาเต้า

ทันทีที่คลอด โรงพยาบาลจะแยกแม่-ลูก
ด้วยเหตุผลที่ฟังดูดีว่า คุณแม่ต้องพักผ่อน
พยาบาลจะดูแลลูกให้ ป้อนขวดไปก่อนนะคะ
เดี๋ยวนมมาแล้วค่อยให้น้องดูด

พอน้องอิ่มนมขวด ก็ไม่ดูดนมแม่
เรียนรู้วิธีดูดขวดก่อน ก็จะปฏิเสธเต้าแม่
เมื่อร่างกายแม่ไม่ได้รับการกระตุ้น น้ำนมก็ไม่ผลิต

เห็นความใจร้ายของบริษัทผู้ผลิตนมผงมั้ยคะ
เอานมผงมาแจกฟรี ติดสินบนบุคคลากรทางการแพทย์
แค่ป้อนขวดที่รพ. 2-3 วัน กลับบ้านลูกก็ไม่ดูดเต้าแล้วค่ะ

กลยุทธ์ง่ายๆ ที่ใช้ได้ผลมาตลอดหลายสิบปี
และก็จะใช้ได้ผลตลอดไปถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ไข

ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันนะคะ

หัวนมแม่จะเป็นยังไง รูปแบบไหน
ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ลูกดูดเต้าไม่ได้ค่ะ
จำไว้นะคะ ชิงลงมือก่อน ได้เปรียบ

@พี่เก๋ ร้านนมแม่

ลูกไม่ดูดเต้าค่ะ (ตอนที่ 1)


ลูกไม่ดูดเต้าค่ะ (ตอนที่ 1) 

A: แล้วทำไมไม่ให้ดูดล่ะคะ
b: หัวนมบอดค่ะ
c: หัวนมสั้นค่ะ
d: หัวนมแบนค่ะ
e: หัวนมใหญ่ค่ะ

ตอนท้องลูกคนแรก...
แม่พี่สั่งไว้ตั้งแต่ยังไม่คลอดเลยว่า ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วจะสบาย
แล้วก็บอกว่า ดูแม่นี่ (เปิดเต้าให้ดูด้วยนะ)
ไม่ใช่หัวนมบอด แบน สั้นนะคะ แต่มันบุ๋มลงไปเลย
คือไม่มีหัวนมนั่นแหละค่ะ

แม่เล่าว่า เวลาพวกแก (หมายถึงพี่กะน้องสาว) ดูด หัวนมมันก็โผล่ออกมา
เวลาไม่ดูด มันก็ยุบกลับไปเหมือนเดิม
พี่ถามว่า "ใครสอนแม่"
แม่สวนกลับมาว่า "ไม่มีใครสอน ทำไมต้องสอนด้วย"

นั่นสิคะ เรื่องที่มันเป็นธรรมชาติแบบนี้ ทำไมต้องสอนด้วย

พี่มาถึงบางอ้อหลังจากที่ทำงานตรงนี้ไดัสักพักหนึ่ง
เพราะไม่มีใครบอกแม่พี่ว่า หัวนมแม่ผิดปกติ
แม่พี่ก็ให้ลูกดูดเต้าทั้งๆ ที่ไม่มีหัวนมนั่นแหละ
ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร

แต่แม่ทุกวันนี้ถูกบุคลากรทางการแพทย์ที่สนับสนุนนมผง
(ไม่อยากจะมองโลกในแง่ร้าย แต่ก็อดไม่ได้ค่ะ)
ทำให้สิ่งปกติ กลายเป็นผิดปกติ
คอยสะกดจิตสารพัด จนทำให้แม่ให้นมลูกไม่ได้

เริ่มจากหัวนมแม่ บอด แบน สั้น ใหญ่ ยาว บลาๆๆๆ
ลูกดูดไม่ได้นะคะ ต้องป้อนขวดค่ะ
ถ้าหัวนมปกติ ก็จะเป็น นมแม่ยังไม่มานะคะ ให้นมขวดไปก่อนค่ะ
ต่อให้หัวนมปกติ นมมาแล้ว ก็ยังเจอข้อหาตัวเหลือง
ให้งดนมแม่ไปก่อน (ได้อีก)
อะไรมันจะสกัดดาวรุ่งกันได้ขนาดนั้นคะ

กลับมาที่เรื่องหัวนมกันค่ะ
หัวนมแบบไหน ลูกก็ดูดได้ทั้งนั้น
ถ้าแม่มีเต้า ลูกมีปาก จบค่ะ

นึกถึงการเรียนรู้ภาษาของคนเรานะคะ
เด็กที่ลืมตาดูโลกครั้งแรก จะรู้มั้ยคะว่าพ่อแม่จะพูดภาษาอะไร


ถ้าพ่อแม่เป็นคนไทย พูดภาษาไทย ลูกก็จะเข้าใจภาษาไทย
ถ้าเป็นฝรั่ง พูดภาษาอังกฤษ ลูกก็จะเข้าใจภาษาอังกฤษ

หัวนมแม่ก็เหมือนกันค่ะ
ลูกไม่รู้หรอกว่าเกิดมาจะเจอหัวนมแบบไหน
ถ้าแม่เอาหัวนมบอดให้ลูกดูด ลูกก็จะรู้จักแต่หัวนมบอด
ลูกก็จะเรียนรู้การดูดหัวนมบอด เหมือนที่แม่พี่เล่าให้ฟัง
หัวนมสั้น ใหญ่ ยาว ก็เหมือนกันค่ะ
ถ้าเขาไม่เคยเจอหัวนมแบบอื่นมาก่อน
หัวนมแม่แบบไหน แบบนั้นคือปกติสำหรับลูกค่ะ

ถ้าจะมีปัญหาบ้างก็คือ เรื่องของพังผืดใต้ลิ้น ซึ่งแก้ไขได้ไม่ยากค่ะ
กับกรณีของลูกคลอดก่อนกำหนด ตัวเล็ก ปากเล็ก แม่เต้าใหญ่
แต่เมื่อลูกโตขึ้น แข็งแรงขึ้น ก็ดูดได้เช่นกันค่ะ

สำหรับคุณแม่ที่ยังไม่คลอด จำไว้นะคะ
อย่าให้ใครมาบอกว่าหัวนมเราผิดปกติ
ลูกเราก็ต้องดูดนมเรา ลูกเรา เราต้องหัดได้

ดูภาพประกอบเป็นแรงบันดาลใจค่ะ
Nic Vujicic ไม่มีแขน ไม่มีขา
คนที่ผิดปกติจริงๆ เขายังทำได้ทุกอย่าง ไม่ต่างจากคนปกติ

เราปกติ ลูกเราก็ปกติ
แค่ฝึกให้ลูกดูดเต้า ทำไมเราจะทำไม่ได้
สู้ๆ นะคะ 

@พี่เก๋ ร้านนมแม่

Monday, September 8, 2014

ลูกไม่ดูดเต้า ถ้าเราปั๊มนมอย่างเดียว นมจะแห้งไหม


Q: สอบถามค่ะ น้อง 9 วัน ไม่ดูดเต้า ถ้าเราปั๊มนมอย่างเดียวจะแห้งไหม น้องไม่ยอมดูดค่ะ ทำทุกทางแล้ว

A: ถ้าปั๊มอย่างมีวินัย ไม่หยุดปั๊ม นมไม่แห้งค่ะ แต่การปั๊มนมอย่างเดียว โดยไม่ให้ลูกดูดเต้านั้น สิ่งที่เราจะสูญเสียไปมีดังนี้ค่ะ

1. ร่างกายแม่ไม่มีโอกาสสื่อสารกับร่างกายลูก

คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าน้ำลายของลูกนั้นสามารถบอกกับเต้าแม่ได้ว่า ขณะนี้ลูกต้องการอะไร ถ้าลูกมีเชื้อโรค เต้าแม่ก็จะตอบสนองด้วยการผลิตน้ำนมที่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นได้ แม่ที่ปั๊มนมใส่ขวดให้ลูกจะพลาดสิ่งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

2. สูญเสียเวลาสำคัญหรือ golden time ที่จะเสริมสร้างพัฒนาการและสายใยรักที่ลึกซึ้งระหว่างแม่ลูก

การที่แม่กอดลูกไว้กับอกทุกวันๆ ละหลายๆ ครั้งนานเป็นปี จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจให้กับลูก ช่วยเสริมสร้างประสาทสัมผัสทั้ง หู ตา จมูก ช่วยเพิ่มความฉลาดทั้งทางสติปัญญาและอารมณ์แก่ลูก

3. นมสดๆ จากเต้าแม่มีคุณค่าและตรงตามความต้องการของลูกมากที่สุด น้ำนมสำหรับเด็กแรกคลอด กับน้ำนมสำหรับเด็กหกเดือนหรือหนึ่งขวบนั้นแตกต่างกัน

4. อาหารที่ปรุงสดมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าอาหารแช่แข็ง นมแม่ก็เช่นเดียวกัน

5. หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ลูกไม่ได้ต้องการน้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว ลูกต้องการอาหารปกติ ต้องการให้แม่เล่นด้วย อ่านหนังสือให้ฟัง พาไปนั่งรถเล่น ถ้าคุณแม่ต้องปั๊มนมวันละ 8 ครั้ง ก็จะสูญเสียเวลาที่จะใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ กับลูกไปอีกไม่น้อย

6. เวลากลางคืน ถ้าลูกดูดเต้า แม่ก็หลับได้ แต่คุณแม่นักปั๊มตัองลุกขึ้นมาปั๊ม ทำให้พักผ่อนได้น้อยกว่า คุณแม่นักปั๊มเหนื่อยกว่ามากๆๆๆๆๆ

7. ลูกดูดเต้า แม่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานกว่า และสบายกว่ามาก หลังขวบไปแล้วแม่ที่ให้ลูกดูดเต้าไม่จำเป็นต้องปั๊มนมก็ได้ แต่ก็สามารถมีน้ำนมให้ลูกได้นานเท่าที่ลูกยังคงดูดเต้าอยู่ แต่คุณแม่นักปั๊มนั้น ถ้าหยุดปั๊ม สต็อคหมดเมื่อไหร่ ก็ต้องหยุดนมแม่เมื่อนั้น

ลูกเพิ่ง 9 วัน คุณแม่ยังมีโอกาสกลับตัวนะคะ คลีนิคนมแม่ช่วยได้ กูเกิลช่วยได้ มีหลายเทคนิคสำหรับลูกไม่ดูดเต้า ลองหาดูค่ะ

ตอนเด็กๆ เคยเล่นเกมจ้องตามั้ยคะ ใครกระพริบตาก่อนคนนั้นแพ้
แต่เกมดูดเต้าไม่เหมือนกันนะคะ
ถ้าลูกไม่ดูดเต้า แล้วแม่ยอมแพ้ก่อน เกมนี้แพ้ทั้งลูกและแม่
แต่ถ้าแม่ชนะ ทำให้ลูกดูดเต้าได้สำเร็จ เกมนี้ชนะทั้งแม่และลูกค่ะ

แล้วคุณแม่ล่ะคะ อยากแพ้หรือชนะ 

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์

Creative Commons License
บทความต่าง ๆ ในบล็อก nommae.blogspot.com โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ nommae.blogspot.com.