ลูกมหาเศรษฐีที่กินนมผสม สุขภาพดีและแข็งแรงสู้ ลูกคนยากจนที่กินนมแม่ล้วน ๆ ไม่ได้
Wednesday, May 1, 2013
ช่วงเวลาพิเศษหลังคลอด - 60 นาทีทอง
โดย พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล
ช่วงเวลาคลอดเป็นช่วงเวลาที่มีการหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดออกมาเพื่อช่วยขบวน การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นแม่ ฮอร์โมนเหล่านี้นอกจากจะทำให้แม่รู้สึกดีและผ่อนคลายแล้วยังทำให้มีการ เปลี่ยนแปลงในระบบสมองและประสาทของแม่และลูก ช่วยให้ทั้งคู่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพใหม่ได้ดีขึ้น
ฮอร์โมนเหล่านี้ได้แก่ อ๊อกซิโทซิน(oxytocin) , เบต้า เอนโดฟิน (beta endorphin), แอดดรีนาลิน และ นอร์แอดดรีนาลิน ( adrenaline and noradrenaline) และ โปรแลคติน ( prolactin) ระดับฮอร์โมนจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการคลอด สูงสุดในขณะคลอดแล้วค่อยๆลดลงในเวลาประมาณ 60 นาที ถ้าไม่มีการรบกวนการคลอด ฮอร์โมนทั้งหมดจะประสานการทำงานร่วมกันอย่างดี ( สิ่งที่อาจรบกวนได้เช่น แสงที่จ้า และเสียงพูดคุยจ้อกแจ้กจอแจ)
ในช่วงหลังคลอดที่ระดับฮอร์โมนในแม่จะเริ่มลดลงนี้เอง ธรรมชาติก็ได้ให้ลูกที่เพิ่งคลอดนี้เองมาช่วยแม่ในการเพิ่มปริมาณฮอร์โมน ที่สำคัญเหล่านี้ เมื่อเอาทารกที่เพิ่งคลอดมาวางลงบนอกแม่ ผิวหนังที่สัมผัสกัน ปากของลูกที่เริ่มไซ้หาและเลียบริเวณเต้านมแม่ ตาลูกที่สบตากับแม่ จะช่วยให้แม่มีการหลั่งฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินเพิ่มมากขึ้น
การที่แม่ลูกได้อยู่ใกล้ชิดกัน ทำให้ลูกได้กลิ่นกายแม่ และแม่ได้กลิ่นลูก การกระตุ้นสมองส่วนรับกลิ่นก็มีส่วนช่วยเพิ่มระดับฮ๊อกซิโทซินช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ในตัวทารกเองก็มีการหลั่งฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินในระดับสูงสุดในช่วง 30 นาทีหลังคลอดด้วยและยังคงระดับสูงไปอีกอย่างน้อย 4 วันหลังคลอด ดังนั้น ในช่วงเวลาพิเศษหลังคลอดนี้ ทั้งแม่และลูกจึงมีความสงบและพร้อมที่จะทำความรู้จักกัน
ผลดีของการมีระดับอ๊อกซิโทซินสูงในช่วงหลังคลอด
-ช่วยให้มดลูกหดตัวดีขึ้น ลดการตกเลือดหลังคลอด ในระยะตั้งครรภ์ใกล้คลอด จะมีเอสโตรเจนไป ทำให้มีการเพิ่มจำนวน ตัวรับอ๊อกซิโทซิน ( oxytocin receptor) ที่มดลูก เพื่อเตรียมให้มดลูกหดตัวตอบสนองต่ออ๊อกซิโทซินได้ดีขึ้น จึงตกเลือดน้อยลง
-ช่วยทำให้มีความผ่อนคลาย ลดความเครียดลง
-ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดความดันโลหิต เพราะออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนของระบบหัวใจด้วย
-อ๊อกซิโทซินมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ ฮอร์โมนแห่งความรัก” เนื่องจากฮอร์โมนนี้ทำให้แม่มีความเป็นแม่มากขึ้น มีพฤติกรรมปกป้องลูกอ่อน เอาความต้องการของลูกมาก่อนความต้องการของตัวเอง
จากการศึกษาวิจัยในโรงพยาบาลในประเทศสวีเดน พบว่าถ้าให้ริมฝีปากของทารกได้สัมผัสหัวนมแม่ภายในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด แม่จะขอให้ลูกมาอยู่ด้วยกันนานขึ้น 100 นาทีทุกๆวัน เปรียบเทียบกับแม่ที่ไม่เคยเอาลูกมาดูดนมแม่ในช่วงชั่วโมงแรก แสดงว่า การที่แม่ลูกได้ใกล้ชิดกันตั้งแต่ชั่วโมงแรก ทำให้แม่มีความผูกพันและอยากให้ลูกมาอยู่ด้วยกันนานขึ้น
การให้ลูกดูดนมแม่ตั้งแต่ระยะแรกช่วยให้ระบบการดูดซึมอาหารของลูกดีขึ้น
การให้นมแม่ตั้งแต่ช่วงแรกๆยังมีผลระยะยาวต่อระบบทางเดินอาหารของลูกด้วย กล่าวคือ ในขณะที่ทารกดูดเต้านมแม่ จะมีการหลั่งฮอร์โมนของระบบทางเดินอาหารออกมาถึง 19 ชนิด ยกตัวอย่างเช่น gasrtrin , Cholecystokinin ฮอร์โมน 5 จาก 19 อย่างนี้จะกระตุ้นการเจริญเติบโตของส่วนเยื่อบุผิวทางเดินอาหารของลูก ทำให้มีการเพิ่มพื้นผิวการดูดซึมอาหารให้มากขึ้น
การที่ปากทารกสัมผัสกับหัวนมแม่ ทำให้มีอ๊อกซิโทซินเพิ่มขึ้นในสมองของทั้งแม่และลูก อ๊อกซิโทซินไปกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสที่ไปเลี้ยงบริเวณทางเดินอาหาร ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนของทางเดินอาหารมากขึ้นด้วย
การที่ทารกได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกๆหลังคลอด ผิวหนังได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เติมเต็มความต้องการทางร่างกายของลูก มีการปรับอุณหภูมิของลูกอย่างมีประสิทธิภาพโดยตัวของแม่เอง ทารกมีโอกาสได้เข้าถึงเต้านมแม่ได้ง่าย และร้องน้อยกว่าทารกที่ถูกแยกไปห่อตัวมิดชิดอยู่ในเตียงทารก
“ทารกแรกเกิดครบกำหนดที่แข็งแรงดีควรได้อยู่ใกล้ชิดในอ้อมอกของแม่ตั้งแต่60 นาทีแรกหลังคลอด”
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความต่าง ๆ ในบล็อก nommae.blogspot.com โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ nommae.blogspot.com.
No comments:
Post a Comment