Thursday, October 3, 2019

5 อันดับสุดยอดเครื่องปั๊มนม Hospital Grade ระดับ World Class ที่ดีที่สุดในโลก

คุณแม่มือใหม่ที่กำลังหาซื้อเครื่องปั๊มนม อาจจะงงๆ ว่าเครื่องปั๊มนม Hospital Grade คืออะไร ทำไมยี่ห้อไหนๆ ก็บอกว่าของตัวเองเป็น Hospital Grade กันทั้งนั้น ตกลงมันมีมาตรฐานไหม

ก่อนอื่นต้องบอกว่า เครื่องปั๊มนมจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ที่ต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการใช้ แต่เนื่องจากประเทศไทยเราไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดที่เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานสำหรับเครื่องปั๊มนมจริงๆ มีแต่อย.ที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตนำเข้าเท่านั้น ทำให้ทุกบริษัทต่างก็สามารถอ้างว่าเครื่องของตัวเองนั้นเป็นเกรดโรงพยาบาลได้ตามใจชอบ

แต่จริงๆ แล้ว เครื่องปั๊มนมสำหรับใช้ในโรงพยาบาลในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น มีมาตรฐานและข้อกำหนดสำคัญ (The Regulation of Medical Device) คือ  แรงดูดต้องไม่เกิน 250 mmHg หรือ 330 mbar เพราะถ้าเกินกว่านั้น จะทำให้ร่างกายบาดเจ็บได้ และต้องมีกรวยปั๊มที่เป็นระบบปิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกผ่านเข้าสู่น้ำนม นอกจากนี้เครื่องปั๊มนมที่ได้มาตรฐานนั้น ยังต้องผลิตโดยผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยมีองค์กรมาตรฐานสากลอย่าง CE หรือ TUV SUD ให้การรับรอง

ในขณะที่เครื่องปั๊มนมส่วนใหญ่ที่เห็นทั่วไปตามท้องตลาดบ้านเราในเวลานี้นั้น ส่วนใหญ่จะผลิตโดยโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศจีน แล้วก็ใช้การทำการตลาดสร้างแบรนด์ให้ดูน่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่คุณภาพจริงๆ นั้นยังไม่ได้มาตรฐาน

เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า 5 อันดับสุดยอดเครื่องปั๊มนม Hospital Grade ระดับ World Class ที่ทั่วโลกยอมรับกันนั้นมีรุ่นไหนบ้าง

อันดับ 5 Medela Lactina (เมดีล่า แลคติน่า)

รุ่นนี้เป็นรุ่นเก่าแก่ที่ยังพอเห็นอยู่บ้างในโรงพยาบาลใหญ่ๆ นะคะ ผลิตโดยบริษัท Medela AG จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 1988 ก็ 30 ปีมาแล้วนะคะ  แรงดูด 100-240 mmHg (75-320 mbar) รอบดูด 40-60 ครั้ง/นาที แต่ด้วยที่ใช้ระบบการทำงานแบบกระบอกสูบ (Piston) ทำให้การปั๊มค่อนข้างนุ่มนวล เสียงเงียบ แล้วก็ทนทานมากๆ ค่ะ ใช้กันเป็น 10 ปีสบายๆ น้ำหนัก 2.4 kg ราคาอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทค่ะ


อันดับ 4 Ameda Elite (อมีด้า เอลีท)

รุ่นนี้ผลิตโดยบริษัท Ameda ซึ่งมีต้นกำเนิดมานานกว่า 70 ปีโดยวิศวกรชาวสวีเดน สำหรับรุ่น Elite เริ่มจำหน่ายครั้งแรกในปี 1993 ใช้ระบบการทำงานแบบกระกอกสูบ (Piston) เช่นเดียวกัน แรงดูด 0-250 mmHg (0-330 mbar) น้ำหนัก 3 kg ราคาประมาณ 73,000 บาท



อันดับ 3 Mamivac Sensitive C (มามิแวค เซนสิทีฟ ซี)

รุ่นนี้เป็นของเยอรมันค่ะ ผลิตโดยบริษัท  KaWeCo GmbH ที่มีประวัติยาวนานกว่า 40 ปี เช่นกันค่ะ สำหรับ Sensitive C นี้ผลิตจำหน่ายครั้งแรกในปี 2009 ระบบการทำงานเป็นแบบ Diaphragm Pump โหมดกระตุ้น แรงดูด 45-150 mmHg (60-200 mbar) รอบดูดคงที่ 100 ครั้ง/นาที ส่วนโหมดปั๊ม แรงดูด 45-250 mmHg (30-330 mbar) รอบดูด 20-48 ครั้ง/นาที น้ำหนักเบาที่สุด 0.79 kg ราคา 30,000 บาท


อันดับ 2 Medela Symphony

รุ่นนี้เป็นของ Medela เช่นกันค่ะ เป็นรุ่น upgrade มาจาก Lactina  เครื่องปั๊มนมรูปทรงคล้ายๆ หม้อหุงข้าวรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่เห็นบ่อยในโรงพยาบาลใหญ่ๆ เริ่มมีหน้าจอ LED แล้วค่ะ ระบบการทำงานเป็นแบบ Diaphragm Pump โหมดกระตุ้น แรงดูด 48-195 mmHg (65-260 mbar) รอบดูดคงที่ 120 ครั้ง/นาที ส่วนโหมดปั๊ม แรงดูด 48-250 mmHg (65-330 mbar) รอบดูด 54-78 ครั้ง/นาที น้ำหนัก 2.9 kg ราคา 85,000 บาท

อันดับ 1 Ardo Carum 

รุ่นนี้ผลิตโดย Ardo Medical AG จากสวิตเซอร์แลนด์ บ้านเกิดเดียวกับ Medela เลยค่ะ Carum เลือกใช้ระบบการทำงานของกระบอกสูบเพื่อความนุ่มนวล สาเหตุที่ Carum เป็นสุดยอดนวัตกรรมใหม่ของเครื่องปั๊มนมก็เพราะ Carum สามารถปรับแรงดูดและรอบดูดได้อย่างอิสระ ทำให้สามารถเลียนแบบการดูดของทารกได้อย่างแท้จริง รวมทั้งยังมี Sensitive Programme ที่ให้แรงดูดที่นุ่มนวลและเบามาก แม้กระทั่งเต้านมที่ได้รับบาดเจ็บมาก่อนก็สามารถปั๊มได้ โดยไม่ทำให้เจ็บ เป็นเครื่องที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้น Colostrum โดยเฉพาะ

และยังมีฟีเจอร์ DropZone ที่เป็นช่วงที่แรงดูดจะหยุดชั่วขณะอย่างนุ่มนวลขณะที่แรงดูดถึงจุดที่ตั้งไว้ ซึ่งจะช่วยให้การไหลของน้ำนมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รุ่นนี้เรียกว่าเป็น โรลสรอยซ์ของเครื่องปั๊มนมก็ว่าได้ค่ะ
โหมดกระตุ้น แรงดูด 23-112 mmHg (30-150 mbar) รอบดูด 72-120 ครั้ง/นาที ส่วนโหมดปั๊ม แรงดูด 23-250 mmHg (30-330 mbar) รอบดูด 30-60 ครั้ง/นาที น้ำหนัก 3 kg ราคา 120,000 บาท



Saturday, July 27, 2019

50 ข้อควรรู้ก่อนการซื้อเครื่องปั๊มนม 41-50

41. ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปั๊มนมได้มากอันดับหนึ่งไม่ใช่เครื่องปั๊มนม แต่คือ อารมณ์และความรู้สึก หากมีความรู้สึกสบายใจ สงบ ผ่อนคลาย จะช่วยให้ฮอร์โมน Oxytocin หลั่งได้ดี น้ำนมจะไหลดี หากมีความเครียด ความกังวลมากในขณะปั๊มนม ต่อให้ในเต้ามีน้ำนมมากแค่ไหน ก็ปั๊มออกได้ยาก 

42. การเปลี่ยนกรวยปั๊มไม่ได้ทำให้น้ำนมเยอะขึ้นทันที แต่ขนาดของกรวยปั๊มที่เหมาะสม จะช่วยทำให้การปั๊มนมสบายขึ้น เมื่อรู้สึกสบาย จะทำให้จะช่วยให้ฮอร์โมน Oxytocin หลั่งได้ดี น้ำนมจะไหลดีตามมา ถ้าสาเหตุของนมน้อยจากการเริ่มต้นที่ไม่ถูกต้อง การเปลี่ยนกรวยปั๊มอย่างเดียวไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้

43. ซิลิโคนครอบกรวยปั๊มไม่ใช่ชิ้นส่วนที่จำเป็น อาจเป็นได้ทั้งประโยชน์และโทษ บางคนไม่ใช้ซิลิโคนดีกว่า แต่สำหรับบางคนที่มีเต้านม หัวนมลักษณะพิเศษ การใช้ซิลิโคนครอบกรวยปั๊มสามารถช่วยให้การปั๊มนมมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ โค้ชนมแม่ผู้รู้จริงจะช่วยให้คำแนะนำที่ดีได้

44. ไม่มีบทเรียนเรื่องการใช้เครื่องปั๊มนมในหลักสูตรสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรที่มีความรู้และสามารถให้คำแนะนำในการใช้เครื่องปั๊มนมที่ถูกต้องได้นั้นพอมี แต่หาไม่ได้ง่ายนัก แม้แต่ในคลินิกนมแม่เอง หากมีปัญหาในการใช้เครื่องปั๊มนม  ให้เริ่มจากการสอบถามผู้ขายก่อน เพราะอย่างน้อยเขาก็ควรได้รับการอบรมจากผู้ผลิตโดยตรง

45. กรวยซิลิโคนหรือกรวยนิ่มเป็นการมโนของโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าบางแห่ง ที่คิดว่ากรวยนิ่มๆ นั้นนุ่มนวลกับเต้านม แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรวยซิลิโคนกลับสร้างความบาดเจ็บได้มากยิ่งขึ้น เพราะความนิ่มของซิลิโคน ทำให้กรวยแนบติดกับเนื้อเต้านมเมื่อเจอแรงดูดที่แรงของเครื่อง จะดูดเอาเนื้อเต้านมเข้าไปเต็มที่ ทำให้บาดเจ็บรุนแรงกว่ากรวยปกติ

46. อาการบาดเจ็บจากการปั๊มนมส่วนใหญ่ เกิดจากระบบปฏิบัติการของเครื่องปั๊มนม คือ แรงดูด ดึง กระชากของเครื่องที่กระทำต่อเต้านมมากกว่าเกิดจากกรวยปั๊ม การเปลี่ยนกรวยปั๊มเพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่ช่วยแก้ปัญหา

47. เครื่องปั๊มนมแต่ละรุ่นมีเทคนิคและวิธีการใช้งานต่างกัน คุณแม่แต่ละคนก็มีข้อจำกัดของร่างกาย จิตใจ รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมภายในครอบครัวไม่เหมือนกัน ผู้มีประสบการณ์หรือโค้ชนมแม่ที่รู้จริงจะช่วยสอนและแก้ไขปัญหาให้คุณแม่แต่ละคนได้

48. เครื่องปั๊มนมแต่ละรุ่นได้รับการออกแบบมาเฉพาะ การใช้อุปกรณ์เช่น กรวยปั๊ม หรือแฮนด์ฟรีที่ไม่ได้เป็นของผู้ผลิตเองโดยตรง อาจทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องปั๊มนั้นลดลง และหากเกิดความเสียหาย มักไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการรับประกัน

49. Power Pumping เป็นการเลียนแบบช่วงเวลา Growth Spurt ของทารกที่มีความต้องการน้ำนมเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้ดูดบ่อยขึ้น ทุก ½-1 ชม. แทนทุก 2-3 ชม. การปั๊มนมด้วยเทคนิค Power Pumping นั้น หากเป็นเครื่องปั๊มนมที่แรงดูดกระชากรุนแรง จะทำให้เต้านมบาดเจ็บมากขึ้น เพราะเต้านมถูกกระทำซ้ำๆ โดยไม่มีเวลาให้พัก หากไม่มีความเข้าใจในการทำ Power Pumping แทนที่นมจะเพิ่ม กลับจะทำให้นมลดแทน

50. ปั๊มนมได้เยอะแค่ไหนก็ให้ความสุขไม่ได้เท่ากับการกอดลูกเข้าเต้า อย่าตัดใจเร็วเกินไปที่จะเป็นคุณแม่ปั๊มล้วนตั้งแต่แรกคลอด

50 ข้อควรรู้ก่อนการซื้อเครื่องปั๊มนม 31-40

31. Label ใต้เครื่องสามารถบอกได้ว่าเครื่องนั้นผ่านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์หรือไม่ (และคาดว่าอีกไม่นาน เมื่อความรู้นี้กระจายทั่ว เราก็จะได้เห็น label ปลอมตามมา) ให้ดูข้อถัดไปเพื่อ cross check คุณภาพของเครื่องปั๊มนมแต่ละยี่ห้อ

32. เวลา search ข้อมูลเพื่อเลือกเครื่องปั๊มนม อย่าค้นแต่ข้อมูลภาษาไทย ลองพิมพ์ยี่ห้อที่สนใจ แล้วตามด้วย USA, UK, EU, Australia, etc. ดูว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเขาให้การยอมรับยี่ห้อเหล่านั้นหรือไม่

33. แรงดูดเฉลี่ยจากช่องปากของทารกคือ -145+-58 mmHg แรงดูดของเครื่องปั๊มนมตามข้อกำหนดของเครื่องมือแพทย์มาตรฐานยุโรปคือ 250 mmHg เครื่องปั๊มนมที่มีแรงดูดสูงกว่านี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เต้านมบาดเจ็บ

34. เครื่องปั๊มแรงดูดมากไม่ได้ช่วยให้ปั๊มนมได้มาก แต่จะทำให้บาดเจ็บได้มาก

35. ท่อน้ำนมเป็นท่อบางๆ เหมือนเส้นเลือด การใช้แรงดูดที่มากเกินไป อาจทำลายท่อน้ำนมได้ ลองคิดถึงหลอดบางๆ ที่ถูกดูดจนแบนและดูดไม่ออก ท่อน้ำนมที่เจอแรงดูดแรงๆ ก็ลีบแบนในลักษณะเดียวกัน ทำให้น้ำนมผ่านออกมาไม่ได้

36. ที่มาของคำว่า “โหมดกระตุ้น” นั้นมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Stimulation Mode ซึ่งเกิดจากงานวิจัยของ University of Western Australia (UWA) ที่พบว่าพฤติกรรมการดูดของทารกนั้นเริ่มจากการดูดเร็วๆ แผ่วๆ ในช่วง 2-3 นาทีแรกเพื่อกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนม (let down reflex) หลังจากน้ำนมเริ่มไหล การดูดของทารกจะเปลี่ยนเป็นดูดและกลืน ทำให้จังหวะการดูดนั้นยาวขึ้นในช่วงหลัง

37. โหมดรีดเต้า เป็นศัพท์เทคนิคทางการตลาด (เวอร์ชั่นแรก) ที่ไม่สามารถรีดเต้าได้จริง แต่สร้างความบาดเจ็บให้กับเต้านมได้จริงๆ การทำงานของโหมดรีดเต้าคือ ใช้แรงดูดสูงๆ พร้อมกับจังหวะการดูดที่ยาวนานกว่าปกติ นั่นหมายความว่า หัวนมและเต้านมจะถูกดึงด้วยความรุนแรงค้างเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุของความบาดเจ็บ ไม่มีทารกคนใดดูดเต้าแม่ด้วยพฤติกรรมเช่นนั้น

38. โหมดสลายก้อน เป็นศัพท์เทคนิคทางการตลาด (เวอร์ชั่นสอง) ที่ไม่สามารถสลายก้อนได้จริงๆ เช่นกัน ก้อนในเต้านมเกิดจากไขมันในน้ำนมสะสมกันเป็นตะกอน เนื่องจากการระบายน้ำนมออกได้ไม่ดี ก้อนเหล่านี้สลายได้ด้วยการนวด บีบด้วยมือ จากผู้มีประสบการณ์ และ/หรือ ร่วมกับเครื่องปั๊มนมที่มีประสิทธิภาพและการดูดของลูก

39. สองมอเตอร์ เป็น Marketing Tactic ของโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นเครื่องปั๊มนมที่ดี หรือช่วยให้ปั๊มนมได้เยอะอย่างที่เข้าใจ ย้อนกลับไปดูข้อ 33 เรื่องแรงดูดช่องปากทารกอีกรอบ มอเตอร์เดียวก็ให้แรงดูดที่มากเกินพอแล้ว #ย้ำอีกครั้ง ยิ่งแรงดูดมาก ยิ่งสร้างความบาดเจ็บให้กับเต้านมได้มาก

40. ด้วยสถานการณ์ปกติ เต้านมเราตอบสนองกับแรงดูดและความสบายที่เหมือนกัน ถ้าแรงดูด x ทำให้เต้าซ้ายสบาย ก็จะทำให้เต้าขวาสบายเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องแยกมอเตอร์ การที่ข้างซ้ายและขวาให้แรงดูดที่ไม่เท่ากัน มีโอกาสผิดพลาดที่เราจะสวมกรวยปั๊มผิดข้าง กลายเป็นใช้แรงดูดมากกับข้างที่เจ็บ และจะยิ่งทำให้เจ็บมากขึ้น ถ้าเต้านมข้างนึงบาดเจ็บ ควรแก้ปัญหาด้วยการหยุดปั๊มข้างที่เจ็บเพื่อรักษา ไม่ใช่ปั๊มด้วยแรงดูดที่ต่างกันของ 2 มอเตอร์

50 ข้อควรรู้ก่อนการซื้อเครื่องปั๊มนม 21-30

21. เครื่องปั๊มนมก็เหมือนอุปกรณ์กีฬาหรือเครื่องดนตรี เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ร่วมกับร่างกายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดี ไม่เหมือนเครื่องนึ่งขวดนมหรือหม้อหุงข้าว ที่ทำงานเองเป็นอิสระ การจะปั๊มนมได้เก่ง ได้เยอะ ร่างกายก็ต้องทำงานประสานกันอย่างดีกับเครื่อง เหมือนนักดนตรีเล่นเครื่องดนตรี ต่อให้เราใช้เปียโนรุ่นเดียวกับพี่โต๋ ศักดิสิทธิ์  ก็ไม่ได้เราเล่นได้เพราะเหมือนพี่โต๋ในทันที โค้ชนมแม่ก็เหมือนโค้ชกีฬาหรือครูสอนดนตรี ถ้าเราเจอคนที่รู้จริง เก่งจริง เขาจะช่วยให้เราใช้ศักยภาพในการผลิตน้ำนมของเราได้เต็มที่

22. การปั๊มนมเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนไม่ต่างกับการเล่นดนตรีหรือกีฬา⛷🤸‍♀️  คนที่มี self learning skill (ทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง) สูง ถ้าได้เครื่องทึ่เหมาะสม ก็อาจจะหัดเองได้ไม่ยาก แต่สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องยาก อะไรที่เราไม่เก่ง หรือทำไม่ได้ดี เรายังต้องมีคนสอน การปั๊มนมก็เช่นกัน

23. คุณแม่บางคนมีนมเป็นทรัพย์ คือนมเยอะแบบทะลักทลาย โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ หายใจเฉยๆ ก็นมไหล ใช้เครื่องอะไรก็ปั๊มได้เยอะ เราใช้รุ่นเดียวกับเขา ก็ไม่ได้นมเท่าเขา  ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเปรียบเทียบปริมาณน้ำนมของเรากับเขา แค่เราปั๊มนมได้เพียงพอสำหรับลูก ก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว

24. การที่โค้ชนมแม่ผู้มีประสบการณ์แนะนำให้เตรียมเครื่องปั๊มนมไปโรงพยาบาลนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ และไม่มีอะไรจะเสีย เพราะคุณแม่ไม่มีทางรู้ว่าลูกที่คลอดออกมานั้นจะช่วยกระตุ้นเต้านมได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน หากลูกดูดได้ไม่ดี เต้านมจะไม่ผลิตน้ำนม เครื่องปั๊มนมที่มีประสิทธิภาพพร้อมคำแนะนำจากผู้รู้จริงจะช่วยกระตุ้นเต้านมให้ผลิตน้ำนมแทนการดูดของลูกได้

25. หากคุณแม่ถูกห้ามไม่ให้นำเครื่องปั๊มนมมารพ. ให้ถามผู้ที่ห้ามว่า สามารถรับประกันได้ไหมว่าเขาจะช่วยให้คุณแม่มีนมเพียงพอสำหรับลูกอย่างแน่นอนโดยไม่ต้องเสริมนมผง คำตอบของเขาจะช่วยให้คุณแม่ตัดสินใจได้เองว่าควรทำตามหรือไม่

26. งานวิจัยสำหรับคุณแม่ที่คลอดก่อนกำหนดพบว่า การเริ่มต้นปั๊มนมภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เทียบกับ 6 ชั่วโมงหลังคลอดนั้น ปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้ในภายหลังของคุณแม่ที่เริ่มต้นปั๊มได้เร็วนั้น มากกว่าคุณแม่ที่เริ่มปั๊มนมช้าอย่างมีนัยสำคัญ

27. เครื่องปั๊มนมที่คนดังรีวิวนั้น อาจไม่ใช่เครื่องที่เขาใช้จริงๆ

28. เครื่องปั๊มนมที่เหมาะสม คือ ปั๊มแล้วไม่เจ็บ ระบายน้ำนมได้ดี ยิ่งปั๊มบ่อย ปริมาณน้ำนมจะยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ทำให้หัวนมยืด ยาว บวม ถลอก หรือเจ็บแสบหลังปั๊ม

29. เครื่องปั๊มนมคือเครื่องผลิตน้ำนม ช่วยผลิตอาหารสำหรับลูก ไม่ใช่เครื่องทรมานร่างกาย ถ้าทุกครั้งที่ปั๊มนม ต้องทนกับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ให้เปลี่ยนเครื่องปั๊ม และอย่าเลือกตามใคร คำแนะนำจากผู้หวังดีนั้น ไม่ได้หมายความจะได้ดีตามที่หวัง แทนที่จะขอคำแนะนำจากผู้หวังดี ให้เปลี่ยนเป็นขอคำแนะนำจากผู้รู้จริงและผู้เชี่ยวชาญ หากไม่แน่ใจ ก็สามารถตรวจสอบได้จากหลายๆ ที่ เพื่อเป็น second opinion

30. ซื้อเครื่องปั๊มนมจากบริษัทที่เป็นผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ก็จะได้เครื่องมือแพทย์ ซื้อเครื่องปั๊มนมจากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็จะได้เครื่องใช้ไฟฟ้า

50 ข้อควรรู้ก่อนการซื้อเครื่องปั๊มนม 11-20

11. ต่อให้มีเครื่องปั๊มนมที่ดีและเหมาะสมแล้ว ก็ไม่ได้การันตีว่าจะปั๊มนมได้เยอะ หากไม่รู้วิธีการปั๊มนมที่ถูกต้อง

12. การเลือกเครื่องปั๊มนมผิด ไม่ได้เสียแค่เงิน แต่เสียทั้งเวลาและโอกาสในการกระตุ้นการผลิตน้ำนมให้ลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนย้อนกลับมาแก้ไขไม่ได้ 

13. หากไม่สามารถกระตุ้นการผลิตน้ำนมให้เพียงพอได้ภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด มีโอกาสที่จะทำให้ไม่มีน้ำนมเพียงพอได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้นหากลูกไม่สามารถดูดเต้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ คุณแม่ไม่ควรใช้เวลาเกิน 2 สัปดาห์ในการค้นหาเครื่องปั๊มนมที่เหมาะสมและเรียนรู้วิธีการปั๊มนมที่ถูกต้อง

14. วิธีที่จะรู้ว่าเครื่องปั๊มนมรุ่นไหนดีที่สุดก็คือ การทดลองด้วยตนเอง ถ้าไม่สะดวกไปลอง ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะผิดพลาด ถ้าไปลองไม่ได้ แทนที่จะถามคนอื่นว่ารุ่นนี้ใช้ดีไหม ควรถามผู้ขายรุ่นที่เราสนใจว่า ถ้าซื้อมาแล้วใช้ไม่ดี หรือใช้ไม่ได้ ผู้ขายจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร

15. ราคาของเครื่องปั๊มนมไม่ได้แปรผันตรงกับคุณภาพของเครื่องปั๊มนมเสมอไป เครื่องปั๊มนมราคาแพงกว่าไม่ได้หมายความว่าคุณภาพดีกว่า แต่เครื่องปั๊มนมราคาถูก คุณภาพมักจะตามราคา อย่ามองหาของดีราคาถูก แต่ให้มองหาของคุณภาพดีที่ราคาสมเหตุผล

16. ถ้าคิดว่าเครื่องปั๊มนมราคาแพง ให้คิดถึงค่านมผงที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน หากไม่มีนมแม่ให้ลูกกิน

17. เครื่องปั๊มนมที่ราคาแพงที่สุด (ประมาณ 15,000-20,000) หากใช้ปั๊มนมให้ลูกกินได้ครบ 12 เดือน ก็ยังถูกกว่าการจ่ายเงินซื้อนมผงราคาถูกที่สุดเป็นเวลา 12 เดือน (4,000/ด x 12 = 48,000)  

18. เครื่องปั๊มนมไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย แต่เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพของทั้งลูกและแม่ แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง จะซื้อเครื่องปั๊มนมรุ่นไหน จากใคร กรุณาศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใต

19. หากสนใจเครื่องปั๊มนมรุ่นไหน แทนที่จะหารีวิวข้อดี ให้ลองหารีวิวข้อเสียดู เพราะข้อเสียต่างหากที่จะทำให้เราซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ และเสียเงินเปล่า เมื่อทราบข้อเสียแล้ว ให้นำข้อเสียนั้นไปถามผู้ขายว่า ข้อเสียแบบนี้เกิดจากอะไร สามารถแก้ไขได้หรือไม่ คำตอบของผู้ขายจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าควรจะซื้อหรือไม่

20. การใช้เครื่องปั๊มนมเพื่อแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับคนนมเยอะ และนมน้อยนั้นมีวิธีการใช้ต่างกัน

50 ข้อควรรู้ก่อนการซื้อเครื่องปั๊มนม 1-10

1. เครื่องปั๊มนมเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สามารถช่วยชีวิตได้ทั้งแม่และลูก ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป การซื้อเครื่องปั๊มนมจากผู้ที่ไม่มีความรู้ อาจทำให้คุณแม่พลาดโอกาสทองที่จะรู้ว่าเครื่องปั๊มนมสามารถช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกได้อย่างไรตั้งแต่แรกคลอด

2. การคลอดก่อนกำหนด ผ่าตัดคลอด การให้น้ำเกลือ และการใช้ยาระงับความเจ็บปวดในระหว่างคลอดล้วนส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการดูดเต้าของทารกตั้งแต่แรกคลอด การใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี ภายใต้คำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้รู้จริง จะช่วยให้อุปสรรคต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี 


3. ทารกที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย มีพังผืดใต้ลิ้น หรือมีปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ แรงดูดจะน้อย ไม่สามารถกระตุ้นเต้านมได้เพียงพอ การใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดีอย่างถูกวิธี จะช่วยกระตุ้นเต้านมได้ดีกว่า และช่วยให้ทารกได้รับนมแม่มากขึ้น


4. สำหรับทารกที่แข็งแรงดี หากต้องการให้นมม
าไว มาเยอะ ต้องใช้ 3 ด คือดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี และหากต้องการให้ปั๊มนมได้เยอะๆ ก็ต้องใช้ 3 ป คือปั๊มเร็ว ปั๊มบ่อย ปั๊มด้วยเครื่องดีๆ อย่างถูกวิธี

5. การปั๊มนมในวันแรกๆ นั้น ไม่ได้หวังผลในเรื่องของปริมาณน้ำนม แต่เป็นการปั๊มเพื่อส่งสัญญาณให้ร่างกายรับรู้ว่ามีความต้องการน้ำนม มีออเดอร์มาแล้วนะ ให้เริ่มเปิดโรงงานผลิตได้แล้ว 

6. Colostrum หรือหัวน้ำนมจะมีลักษณะข้น เหนียว ปริมาณน้อยนิดแต่คุณค่ามหาศาล เครื่องปั๊มอย่างเดียว ไม่สามารถเอาออกได้ ต้องใช้การบีบมือร่วมด้วย



7. หากนมในเต้ามีน้อย การดูดอย่างมีประสิทธิภาพของทารก จะช่วยระบายน้ำนมออกได้ดีกว่าเครื่องปั๊ม แต่หากในเต้านมมีมาก การใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดีอย่างถูกวิธีจะช่วยระบายน้ำนมออกได้มากกว่าการดูดอย่างเดียว  เพราะทารกจะดูดแค่อิ่ม ถ้านมยังเหลือเยอะ ก็จะค้างอยู่ในเต้า กำลังการผลิตที่เหลือค้างบ่อยๆ ก็จะทำให้โรงงานปรับลดกำลังการผลิตลง

8. การให้ลูกดูดเต้าหรือการปั๊มนมนั้นเป็นกิจกรรมที่ให้ความสุข ไม่ใช่กิจกรรมฝึกความอดทนของคนเป็นแม่ หากคุณแม่เจ็บตอนที่ลูกดูด หรือใช้เครื่องปั๊มนมแล้วเจ็บ แสดงว่าทำผิดวิธี ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์

9. ไม่มีเครื่องปั๊มนมรุ่นเทพที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เครื่องปั๊มนมแต่ละรุ่น เหมาะกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่อให้ดีไซน์เนอร์แบรนด์ดังเป็นคนออกแบบชุด ก็ไม่ได้ทำให้ทุกคนใส่แล้วสวยเหมือนกัน เครื่องปั๊มนมก็เช่นกัน การที่คนอื่นใช้ดีและแนะนำ ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้ได้ผลเหมือนผู้แนะนำ


10. หัวนม ลานนม เต้านม รูปทรง ความโค้งเว้า รวมทั้งความยืดหยุ่นของผิวหนังที่สามารถทนทานต่อแรงดูด ดึง กระแทกของเครื่องปั๊มนม เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลือกเครื่องปั๊มนม

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์

Creative Commons License
บทความต่าง ๆ ในบล็อก nommae.blogspot.com โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ nommae.blogspot.com.