“นมแม่... ยังไงก็พอ”
“ทำยังไงดีมีน้ำนมไม่พอ กลัวลูกไม่อิ่ม?”
“ทำไมให้นมแม่แล้วลูกตื่นบ่อย สงสัยนมจะมีไม่พอ?”
“ให้นมแม่แล้ว ลูกยังร้องงอแง แสดงว่าไม่อิ่มใช่มั้ย?”
“ปั๊มนมออกมาได้นิดเดียว จะพอให้ลูกกินหรือ”
ล้วนเป็นประโยคที่วนเวียนอยู่ภายในสมองของคุณแม่มือใหม่ที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกหรือน่าตกใจ เพราะคุณแม่มือใหม่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสาเหตุสำคัญอีกอย่าง คือ การถูกสะกดจิตทางสมองด้วยข้อมูลแอบแฝงทางการตลาดของผู้ผลิตนมผสมว่า “นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก หากนมแม่ ไม่พอ ให้ใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก” หรือจากตารางการให้นมผสมที่บอกว่า “อายุ 0-2 สัปดาห์ ใช้นมผสม 3 ช้อนตวง น้ำสุก 3 ออนซ์ จำนวน 6-7 มื้อต่อวัน”
ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครรู้หรอกว่า นมเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ แต่ถ้าดูจากพฤติกรรมทางธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ในวัยทารกที่กินแต่นมแม่อย่างเดียว เช่น หมาหรือแมวที่เราเลี้ยง เมื่อคลอดลูกใหม่ๆ แม่จะกกอยู่กับลูกทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยมีใครไปนับว่าในแต่ละวันลูกๆ มันจะกินนมสักกี่ครั้ง และไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่านมแม่หมาหรือแม่แมวจะมีเพียงพอสำหรับลูกหรือเปล่า แล้วทำไมเราถึงต้องตั้งคำถามกับการเลี้ยงลูกคนด้วย?
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ปริมาณนมที่เราใช้เป็นเกณฑ์ในการเลี้ยงลูก มาจากคู่มือการเลี้ยงด้วยนมผสมเป็นหลัก ซึ่งเมื่อมองในเชิงการตลาด การเพิ่มปริมาณนมผสมและจำนวนครั้งให้มากขึ้นตามอายุลูก ก็ทำให้คุณต้องซื้อนมกระป๋องใหม่เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ที่สามารถยืนยันว่า ปริมาณเท่านี้หรือจำนวนครั้งเท่านั้น คือสิ่งที่ทารกต้องการจริงๆ เพราะแม้แต่ข้างกล่องนมผสมแต่ละยี่ห้อก็ยังกำหนดปริมาณไว้ไม่เท่ากันเลย
ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่ว่า กระเพาะอาหารของทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวแค่ 2-3 กิโลกรัม มีขนาดเท่าลูกกอล์ฟเท่านั้น และบรรจุอะไรไม่ได้มาก ต้องค่อยๆ รับทีละน้อย หัดย่อย หัดดูดซึมง่ายๆ ไม่สามารถรับสิ่งแปลกปลอมนอกจากนมแม่ ซึ่งปริมาณนมแม่ที่ลูกดูดเข้าไปแรกๆ อาจจะมีเพียงไม่กี่หยด หรือไม่กี่ช้อนชา ลูกก็ต้องการเพียงปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยๆ เพื่อฝึกฝน เมื่อร่างกายทั้งแม่และลูกปรับตัวได้ ลูกก็จะดูดนมปริมาณมากขึ้น ในขณะที่แม่ก็จะผลิตน้ำนมมากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นปริมาณนมที่เพียงพอจะเป็นเท่าไหร่นั้น ธรรมชาติของทั้งแม่และลูกจะเป็นตัวบอกเอง และไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องให้นมผสมไปพร้อมกับนมแม่ เพียงเพราะกลัวว่าลูกจะกินนมไม่พอ
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับนมแม่
• ยิ่งลูกดูดนมมาก ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมออกมามาก แต่ถ้าไม่ให้ลูกดูด น้ำนมก็จะไม่มีเพราะนมแม่จะมีการผลิตอย่างต่อเนื่องก็ต่อเมื่อมีการนำน้ำนมออกจากร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าด้วยการดูดของลูก การบีบด้วยมือ หรือบีบด้วยครื่องปั๊มนม
• จากการวิจัยพบว่า ปริมาณน้ำนมจะมีมากที่สุดในช่วงเช้า ซึ่งเป็นเวลาดีที่สุดสำหรับการปั๊มหรือการทำสต็อก ในขณะที่ปริมาณไขมันในน้ำนมจะมีมากขึ้นในช่วงหลังของวัน
• ขนาดเต้านมไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ไม่ใช่ปัญหาของการผลิตน้ำนม
• คุณแม่กว่า 97% สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ แม้จะมีหัวนมบอดหรือแบน
No comments:
Post a Comment