คุณแม่จำนวนมากถูกบริษัทผู้ผลิตนมผสมล่อหลอกให้เข้าใจผิดว่าทารกจะต้องการกินนมปริมาณเท่านั้นเท่านี้ตั้งแต่แรกคลอดและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่ออายุมากขึ้น
ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมากและทำให้แม่ไม่มั่นใจว่าตนเองจะผลิตน้ำนมให้ลูกได้พอ
ความเป็นจริงแล้ว กระเพาะทารกแรกคลอดมีขนาดเท่าลูกแก้วลูกเล็กๆ
เท่านั้นเอง เวลาที่แม่กังวลว่านมยังไม่มานั้น จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องกังวลเลย
เพราะทารกแรกคลอดต้องการน้ำนมเพียงไม่กี่หยดที่เราเห็นมันซึมๆ
ออกมาแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว เมื่อดูดหรือปั๊มบ่อยๆ ปริมาณน้ำนมก็จะค่อยๆ
เพิ่มตามความต้องการของทารกได้อย่างสมดุล
น้ำนมแม่มีสารอาหารที่ทารกดูดซึมและนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านมผสม
ดังนั้นปริมาณน้ำนมแม่ที่ทารกต้องการจึงไม่ได้มากอย่างที่คุณแม่หลายคนถูกข้อมูลข้างกล่องนมผสมล่อหลอก
จากงานวิจัยทำให้เราทราบว่าทารกอายุตั้งแต่
1-6 เดือน ที่กินนมแม่ล้วนๆ นั้น มีความต้องการน้ำนมเฉลี่ยวันละ 25 ออนซ์ (750
ml) ทารกแต่ละคนกินนมแม่ไม่เท่ากัน โดยมีปริมาณอยู่ระหว่าง 19-30
ออนซ์ ต่อวัน (570-900 ml) ทารกที่กินน้อยอาจกินแค่วันละ 19
ออนซ์ ส่วนทารกที่กินเก่งๆ ก็อาจกินได้มากถึงวันละ 30 ออนซ์
จากข้อมูลนี้สามารถช่วยให้เราคำนวณปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการในแต่ละมื้อสำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงานได้
โดยการนำ 25 หารด้วยจำนวนมื้อที่ทารกกินนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกดูดนมแม่วันละ
8 ครั้ง ปริมาณน้ำนมต่อมื้อที่ควรจะเตรียมก็คือ 3 ออนซ์ (25/8 = 3.1)
คุณแม่ที่เริ่มปั๊มนมใหม่ๆ
มักจะบ่นว่าปั๊มได้น้อย เพราะชอบนำไปเทียบกับคนอื่น (ที่เขาปั๊มมานาน
เชี่ยวชาญและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากกว่าความต้องการของลูกได้แล้ว)
ขอบอกว่าปริมาณที่ปั๊มได้ถ้าเริ่มต้นในช่วงเดือนแรก 1-2
ออนซ์ต่อสองข้างนั้นเป็นเรื่องปกติ ถ้าขยันและมีวินัยในการปั๊มทุกวัน
ปริมาณน้ำนมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน เห็นมาเยอะแล้วค่ะ ทีแรกก็บ่นว่าน้อย
ปั๊มไปปั๊มมา กลายเป็นบ่นไม่มีที่จะเก็บ
No comments:
Post a Comment