Thursday, June 13, 2013

การให้ลูกกินนมผสมไม่เกี่ยวอะไรกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ใช่ทางเลือก

เช่นเดียวกับการปฏิสนธิตามธรรมชาติ การตั้งครรภ์ การคลอดลูก และเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับมนุษย์ การให้ลูกกินนมแม่เป็นวิธีธรรมชาติในการให้อาหารทารกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งรวมถึงมนุษย์ด้วย

แต่วิธีตามธรรมชาติเหล่านี้ ไม่มีการรับรองว่าจะไม่เกิดความผิดพลาด สังคมจึงสร้างทางเลือกเผื่อไว้ในกรณีที่มีการผิดแผนไปจากที่ธรรมชาติตั้งใจ

การทำเด็กหลอดแก้ว การอุ้มบุญ การผ่าตัดคลอด การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด และการให้ทารกกินนมผสม สิ่งเหล่านี้มีไว้ใช้เวลาที่ธรรมชาติเกิดความผิดพลาด

แต่ทำไมจึงมีความแตกแยกระหว่างแม่ที่ให้ลูกกินนมแม่กับแม่ที่ให้ลูกกินนมผสม ทำไมการเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง จึงถูกมองว่าเป็นการตำหนิอีกฝ่ายที่เลือกไม่เหมือนกัน ทำไมความขัดแย้งแบบนี้ไม่เกิดในกลุ่มแม่ที่คลอดธรรมชาติกับแม่ที่ผ่าตัดคลอด 

ลองนึกดูว่าเราเคยเห็นคนที่มีลูกง่ายถกเถียงกับคนที่ไปทำเด็กหลอดแก้วไหม เคยเห็นแม่ที่คลอดลูกตามกำหนดไปตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีการดูแลมากมายสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ เคยเห็นคนเป็นหมันไปร้องเรียนไม่ให้โฆษณาการคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัวหรือไม่

อะไรที่ทำให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงเช่นนี้ในกลุ่มแม่ที่ให้ลูกกินนมแม่และแม่ที่ให้ลูกกินนมผสม

ถ้ามองย้อนไปในอดีตที่ผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ เราจะหาคำตอบได้ไม่ยาก

แรกเริ่มเดิมทีนมผสมเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับทารกที่ไม่มีโอกาสได้กินนมแม่ ซึ่งในอดีตมักจะหมายถึงทารกที่โดนทิ้งตั้งแต่แรกเกิดและไม่มีแม่นมรับไปเลี้ยง หรือทารกกำพร้าที่ไม่มีญาติที่อยู่ในระยะให้นมลูก

แต่เพราะการตลาดฉ้อฉลของบริษัทนมผสมที่มุ่งสร้างผลกำไร ทำให้การให้นมผสมก้าวกระโดดจากทางเลือกสุดท้ายขึ้นมาเป็นทางเลือกแรก และในศตวรรษที่ผ่านมาเราต้องทั้งใช้เวลาและความพยายามมหาศาล เพื่อจะแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัวของบริษัทนมผสม แต่เส้นทางสู่ความสำเร็จยังอยู่อีกยาวไกล

ถ้าบริษัทนมผสมแค่โฆษณาว่า นมผสมเป็นทางเลือกหนึ่งแทนนมแม่ ก็เป็นเรื่องแย่พออยู่แล้ว แต่ความจริงเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นมาก 

บริษัทนมผสมใช้โฆษณาทรงพลังชักจูงให้คนเชื่อว่านมผสมมีสรรพคุณเหนือกว่านมแม่ เพียงชั่วอายุคนเดียวทางเลือกของคุณแม่มือใหม่ก็หมดไป เพราะแพทย์และพยาบาลถูกบริษัทนมผสมล้างสมอง และให้ข้อมูลเท็จที่ได้รับจากบริษัทนมผสมที่สนใจแต่เงินผลกำไรมหาศาล

ผลลัพธ์ที่น่าสะเทือนใจไม่ใช่การที่คนในสังคมสูญเสียความมั่นใจกับการให้ลูกกินนมแม่ แต่คือการที่สังคมไม่ตระหนักถึงอันตรายของการให้ทารกกินนมผสมแทนการให้กินนมแม่ตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้

เมื่อเราแทนที่นมแม่ด้วยนมผสมและอาหารสังเคราะห์ มันจะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพทั้งปัจจุบันและในอนาคต การทำเด็กหลอดแก้ว การคลอดก่อนกำหนด หรือการผ่าตัดคลอด มีอันตรายและความเสี่ยงเป็นผลตามมา การให้ทารกกินนมผสมก็เช่นเดียวกัน

แต่เมื่อไหร่ที่เรายกเอาอันตรายและความเสี่ยงของนมผสมขึ้นมาพูด คนในสังคมก็มักจะโวยวายว่าไม่เห็นใจแม่ที่ต้องอาศัยนมผสม เป็นเวลาหลายปีแล้วที่อันตรายของนมผสมถูกปกปิดเอาไว้ด้วยการใช้คำพูดที่่อ่อนลงและการบอกประโยชน์ของนมแม่ วิธีการแบบนี้เหมือนกับการบอกข้อดีของการหายใจในอากาศบริสุทธิ์ที่ไม่มีควันบุหรี่ การบอกประโยชน์ของการไม่ไปอยู่ในที่ที่มีสารกัมมันตรังสีรั่วไหล หรือการไม่ควรเดินตัดหน้ารถยนต์ 

การให้ลูกกินนมแม่ไม่ได้มีประโยชน์ การให้ลูกกินนมแม่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่การให้ลูกกินนมแม่เป็นธรรมชาติของมนุษย์

การตัดสินใจให้ทารกกินนมผสม ไม่ว่าจะให้ร่วมกับนมแม่ หรือให้แทนนมแม่เลย ต้องพิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบด้าน การให้นมผสมไม่ใช่การเลือกว่าจะให้กินนมแม่หรือไม่ การตัดสินใจเลือกไม่เกี่ยวกับการให้ลูกกินนมแม่เลย 

ก่อนที่เราจะเข้าไปแทรกแซงขั้นตอนตามธรรมชาติ เราต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงอันตรายที่จะเกิดและประโยชน์ที่จะได้รับ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะหรือการฟอกไต การให้นมผสมควรจะนำมาใช้เมื่อไม่เหลือทางเลือกอื่นอีกแล้ว

ความขัดแย้งทางอารมณ์

การรณรงค์เกี่ยวกับสุขภาพต่าง ๆ ออกแบบขึ้นเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ เปลี่ยนนิสัยและกระตุ้นให้พวกเขาตั้งคำถามกับแนวทางการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลิกบุหรี่ กินผักมากขึ้น ออกกำลังมากขึ้น ลดแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการโดนแดด ลดการบริโภคไขมัน ตรวจภายใน กินอาหารที่มีไฟเบอร์มากขึ้น ฯลฯ ฯลฯ 

เราอ่านนิตสาร ดูโทรทัศน์ ไปหาหมอ หรืออ่านป้ายโฆษณา ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่ามีวิธีการมากมายที่จะทำให้สุขภาพเราดีขึ้น ทั้งในตอนนี้และในอนาคต ถ้าเราละเลยสิ่งเหล่านี้ หมายความว่าเราไม่ยอมใช้พลังของเราในการลงมือทำเพื่อตัวเอง

แต่พอมีการติดโปสเตอร์รณรงค์นมแม่ ทันใดนั้นก็จะมีคนโวยวายว่า มันทำให้คนที่ให้ลูกกินนมผสมรู้สึกผิด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นไปได้ ทำไมข้อความรณรงค์สุขภาพกลายเป็นเรื่องส่วนตัวและทำร้ายความรู้สึกของคนบางกลุ่ม คำตอบอาจจะทำให้คุณประหลาดใจ แน่นอนว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์ แต่มันไม่เกี่ยวกับความรู้สึกผิด

ความรู้สึกผิด คือ สิ่งที่เรารู้สึกเวลาทำความผิด เป็นความเสียใจที่เกิดจากความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่ทำลงไป เป็นความรู้สึกภายในที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ทำความผิดรับรู้ว่าตัวเองทำสิ่งไม่ดี คำจำกัดความแบบนี้น่าจะตรงกับแม่ที่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่จำนวนไม่มาก

แต่อารมณ์ที่แท้จริงของผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ให้ลูกหย่านมแม่ก่อนเวลาอันควร คือ ความเสียใจ คือ ความรู้สึกเศร้าใจกับการสูญเสียหรือการหายไปของสิ่งที่มีค่า พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อผู้หญิงเหล่านี้เห็นการสนับสนุนนมแม่ มันเตือนให้พวกเขานึกถึงช่วงเวลาที่พวกเขาเศร้าใจ ความรู้สึกนี้จะนำไปสู่ความโกรธ เพราะความรู้สึกที่ค้างคาใจได้ผุดขึ้นมาอีกครั้ง

สิ่งที่แม่เหล่านี้ต้องการคือการสนับสนุนและความเข้าอกเข้าใจในความเสียใจของพวกเขา การรับรู้ว่าพวกเขามีความเศร้าเสียใจ แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่พวกเขาได้รับ คือ คำยืนยันสนับสนุนการตัดสินหย่านมก่อนกำหนด และคำปลอบใจว่าลูกของพวกเขาจะมีสุขภาพดีแข็งแรงทั้งที่ให้กินนมผสม

การไม่สามารถที่จะตระหนักถึงความรู้สึกที่แท้จริงนี้จะคงอยู่ไปนานและทำให้การฟื้นตัวทางอารมณ์เนิ่นนานออกไปอีก เมื่อใดที่มีการพูดถึงการให้ลูกกินนมแม่ขึ้นมา อารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะย้อนกลับมา และรู้สึกได้ชัดเจนทั้งกับแม่เลิกที่ให้นมไปนานหลายสิบปีและแม่มือใหม่

ถ้าการย้ำเตือนคุณค่าของนมแม่ทำให้คุณรู้สึกโกรธ คุณก็ควรจะโกรธคนที่ทำให้คุณเสียใจ ไม่ใช่โกรธคนที่พยายามสร้างความตระหนักรู้กับคนทั่วไป พวกคุณแม่ไม่ได้ล้มเหลวในการให้ลูกกินนมแม่ แต่สังคมของเราต่างหากที่ล้มเหลวในการช่วยเหลือพวกคุณแม่ให้ลูกกินนมแม่ได้สำเร็จ และความรับผิดชอบควรจะตกไปอยู่กับ
  • ระบบสุขภาพที่สนับสนุนนมแม่แต่คำพูด แต่กลับปล่อยให้แม่ออกจากโรงพยาบาลก่อนที่จะได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการให้ลูกกินนมแม่
  • สังคมที่มองการให้ลูกกินนมแม่เป็นเรื่องลับเฉพาะส่วนตัวที่ต้องทำในที่ปกปิด เชิดชูเต้านมในฐานะอุปกรณ์ทางเพศและละเลยการใช้ประโยชน์ที่แท้จริงของมัน
  • สังคมที่คาดหวังให้แม่รีบต้องกลับไปทำงาน เพราะลาคลอดได้ไม่นานและไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างลาคลอด ขณะเดียวกันที่ทำงานก็ไม่มีสถานรับเลี้ยงเด็ก และไม่มีความช่วยเหลือให้แม่สามารถทำงานและให้ลูกกินนมแม่ไปได้พร้อม ๆ กัน
  • ระบบทางการแพทย์ที่ยังวัดการเติบโตของทารกกินนมแม่โดยใช้เกณฑ์การเติบโตซึ่งไม่เป็นธรรมชาติของทารกกินนมผสม และทำให้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่รู้สึกล้มเหลวเวลาที่ลูกไม่เป็นไปตามเกณฑ์นั้น
  • ขั้นตอนการแพทย์ที่ไม่จำเป็นในระหว่างการคลอด ซึ่งไปขัดขวางเส้นทางธรรมชาติของทารกจากมดลูกสู่เต้านม และข้อบังคับที่จำกัดทารกให้ไม่สามารถเข้าถึงเต้านมแม่ได้บ่อยเท่าที่ควรเพื่อได้รับสารอาหารที่เหมาะสม
  • สังคมที่ทำลายภาพพจน์ของร่างกาย โดยสร้างภาพร่างกายของสาวรุ่นว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ และยกย่องร่างกายที่ขาดสารอาหารของดาราคนดังเป็นแบบอย่างให้วัยรุ่นและหญิงวัยเจริญพันธุ์เดินตาม
ถึงเวลาแล้วที่เราจะทำลายกำแพงระหว่างแม่ทุกคนแล้วหันมาร่วมมือกัน ไม่มีพวกเขาไม่มีพวกเรา ไม่มีแม่ที่ดีหรือแม่ที่แย่ ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนและข้อมูลที่จำเป็นในการให้กำเนิดทารกและให้ลูกกินนมแม่ตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้ โดยไม่ต้องรู้สึกถึงแรงกดดันจากการโฆษณาของบริษัทนมผสมที่เข้าไปมีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่ดูแลพวกเขาในระหว่างการทำหน้าที่แม่

-------














Wednesday, May 29, 2013

ทำไมแม่ที่ลูกดูดเต้าจึงปั๊มนมได้น้อย

ช่วงที่ผ่านมานี้มีคุณแม่นักปั๊มแชร์รูปปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้กันเยอะมาก จนทำให้แม่มือใหม่หลายท่านเข้าใจผิด รู้สึกวิตกกังวลว่าทำไมเราปั๊มนมได้นิดเดียว ปั๊มไม่ได้มากเท่าคนอื่น ต้องอธิบายว่าการปั๊มนมเป็น Skill ที่ต้องฝึกฝน เหมือนการขี่จักรยาน เล่นดนตรี ฯลฯ การฝึกบ่อยๆ ทำบ่อยๆ จะทำให้เราเก่งขึ้น
 
คุณแม่ที่ให้ลูกดูดเต้าเป็นหลัก กับคุณแม่ที่ปั๊มนมอย่างเดียวโดยไม่ให้ลูกดูดนั้นจะมีความแตกต่างกันมากในเรื่องของปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้ คุณแม่ที่ปั๊มนมอย่างเดียวนั้น ร่างกายจะผลิตน้ำนมตอบสนองกับปริมาณน้ำนมที่ระบายออกไปจากการปั๊มของเครื่อง ซึ่งเป็นปริมาณที่เรียกว่า Over Suppply คือมากกว่าปริมาณที่ลูกต้องการ ยิ่งปั๊มมาก น้ำนมจะยิ่งมาก ยิ่งปั๊มบ่อย น้ำนมจะยิ่งเยอะ อาจจะดูเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่นักปั๊มจะสามารถปั๊มนมได้ถึงวันละ 40-60 ออนซ์ ในขณะที่ลูกต้องการน้ำนมจริงๆ เพียงวันละ 24-30 ออนซ์ ทำให้คุณแม่กลุ่มนี้มีน้ำนมเต็มตู้ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีที่เก็บ เพราะลูกกินไม่ทัน
 
ในทางตรงข้าม คุณแม่ที่ให้ลูกดูดเต้าตั้งแต่แรกคลอด และไม่ได้มีการปั๊มนมเพิ่มเลย (หรือปั๊มน้อยไม่สม่ำเสมอ) เมื่อครบเดือน แล้วจะเริ่มปั๊มจริงจังเพื่อเตรียมตัวไปทำงาน ส่วนใหญ่จะพบว่าปั๊มนมได้ 1-2 ออนซ์ เมื่อเห็นภาพคุณแม่นักปั๊มเอารูปปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้ครั้งละ 6-8 ออนซ์มาแชร์ก็จะยิ่งวิตกกังวลว่าทำไมเราปั๊มนมได้น้อย เครื่องปั๊มไม่ดี หรือว่าเรามีนมไม่พอ
 
ขอย้ำว่าปริมาณน้ำนมที่ได้ 1-2 ออนซ์ของคุณแม่กลุ่มนี้นั้นเป็นเรื่องปกตินะคะ เพราะที่ผ่านมาร่างกายเราปรับปริมาณการผลิตน้ำนมไปตามความต้องการจริงของลูก ลูกดูดไปแค่ไหน ร่างกายก็ผลิตแค่นั้น เป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับลูกค่ะ ไม่ได้น้อยกว่าที่ลูกต้องการ แต่น้อยกว่าคุณแม่นักปั๊มที่เริ่มปั๊มตั้งแต่แรก ซึ่งก็อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าเป็นปริมาณที่เกินกว่าความต้องการค่ะ 
 
คุณแม่ที่ลูกดูดเต้าไม่ควรจะคิดน้อยอกน้อยใจนะคะ เพราะการที่เราดูเหมือนจะปั๊มได้น้อยกว่า แต่ก็พอเพียง ยิ่งไปกว่านั้นการที่ลูกดูดเต้า ทำให้ลูกได้กินนมสดๆ  แถมยังได้ความผูกพันลึกซึ้งอีกด้วย รอให้ลูกอายุเกินขวบไปแล้ว คุณแม่จะยิ่งเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ดีขึ้น
 
หากคุณแม่ที่ลูกดูดเต้าต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนมก็สามารถทำได้ด้วยการเพิ่มการปั๊มให้มากขึ้น ถ้าลูกติดเต้ามาก ไม่มีเวลาปั๊ม ให้ปั๊มพร้อมกับที่ลูกดูด คือให้ลูกดูดข้างนึง อีกข้างปั๊มไปพร้อมๆ กัน ประมาณ 15 นาที ให้เก็บน้ำนมที่ปั๊มได้ไว้เป็นสต็อค แล้วก็ให้ลูกมาดูดซ้ำข้างที่เพิ่งปั๊มไป ครั้งถัดไปให้สลับกันคือ ข้างที่ดูดก่อนให้เปลี่ยนเป็นปั๊ม ข้างที่ปั๊มให้เปลี่ยนเป็นดูด ในระหว่างวัน ถ้ามีจังหวะทำได้มื้อไหน หลังจากลูกดูด 1 ชม.  ให้ปั๊มพร้อมกันสองข้างประมาณ 10 นาที เก็บเป็นสต็อคได้อีก ไม่ต้องกลัวนมหมดค่ะ ถ้าลูกตื่นก็ให้ดูดต่อได้เลย
 
สำหรับคุณแม่ที่ให้ลูกดูดเต้า ปริมาณน้ำนมที่เก็บเพิ่มได้ในแต่ละวัน วันแรกๆ รวมกันได้ 2-3 ออนซ์ก็ใช้ได้แล้วนะคะ ถ้ารวมกันทุกครั้งทั้งวันได้ 10 ออนซ์เมื่อไหร่ ก็พอใจได้เลยนะคะ เกินกว่านั้นเป็นโบนัส แต่รับรองว่าไม่ได้ใช้ เพราะว่าเด็กที่ดูดเต้า ไม่เหมือนเด็กดูดขวดนะคะ ลูกที่ติดเต้า ส่วนใหญ่จะรอแม่ค่ะ กินขวดน้อย ส่วนใหญ่แม่กลุ่มนี้จะปั๊มทิ้งหรือบริจาคมากกว่า

Sunday, May 19, 2013

จะรู้ได้อย่างไรว่าแพทย์สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง


โดยปกติ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะสอบถามเพื่อนฝูง คนรู้จัก เพื่อขอคำแนะนำในการฝากครรภ์ว่าควรจะฝากที่ไหน  แพทย์คนใด  แต่ส่วนใหญ่มักจะลืมไปว่า หลังจากคลอดแล้ว แพทย์ที่จะดูแลลูกต่อจากนั้นไม่ใช่สูติแพทย์ท่านเดิมแล้วค่ะ   จะต้องเปลี่ยนเป็นกุมารแพทย์  ฉะนั้นก่อนคลอดควรสอบถามและเลือกกุมารแพทย์ที่สนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ให้เป็นกุมารแพทย์ ประจำตัวลูกน  (ถ้าก่อนคลอด คุณแม่ไม่ได้ระบุว่าต้องการกุมารแพทย์ท่านใด ทางโรงพยาบาลจะจัดให้ตามคิว)     
           
แม้ว่าแพทย์ส่วนใหญ่จะพูดตรงกันว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่ก็ไม่ใช่ว่าแพทย์ทุกท่านจะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง    ส่วนใหญ่จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ต่อเมื่อกรณีนั้นไม่มีปัญหา   แต่ถ้าหากมีปัญหาเมื่อใด ส่วนใหญ่จะแนะนำให้หย่านม หรือใช้นมผสมช่วย   แพทย์ที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างแท้จริง จะต้องพยายามอย่างเต็มที่ ในการที่จะช่วยเหลือ หรือแก้ปัญหาให้คุณแม่ เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดำเนินต่อไปได้

ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตว่าแพทย์ท่านใดที่ไม่ได้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง

1. แพทย์ท่านนั้นให้นมผสมที่แจกฟรีเป็นตัวอย่าง รวมทั้งเอกสารแนะนำคุณสมบัติของนมผสมยี่ห้อนั้นๆ แก่คุณ
           
การแจกตัวอย่างนมผสมผ่านโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์นั้น เป็นสุดยอดการตลาดที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณแม่ทั้งหลายว่านมผสมนั้นดีไม่แพ้นมแม่  ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

2.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่านมผสมหรือนมแม่ก็เหมือนๆ กัน
            
แม้ว่าทารกที่กินนมผสมหรือกินนมแม่ ต่างก็เจริญเติบโตได้เหมือนๆ กัน  ไม่ได้หมายความว่า นมผสมจะเหมือนกับนมแม่ทุกประการ  มีส่วนประกอบหลายชนิดที่มีในนมแม่  แต่ไม่มีในนมผสม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิคุ้มกันและเซลล์ที่ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อโรคของทารก 

3. แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่านมผสมยี่ห้อ XXX ดีที่สุด
            
ทุกวันนี้ยังไม่มีการพิสูจน์และยืนยันได้ว่านมผสมยี่ห้อใดดีที่สุด นมผสมยี่ห้อที่แพงที่สุดหรือขายดีที่สุดก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของทารกไม่ต่างจากนมผสมยี่ห้อที่ราคาถูกกว่า ความนิยมของนมผสมแต่ละยี่ห้อนั้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น  

4.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่า ไม่จำเป็นต้องรีบพาลูกมาดูดนมทันทีหลังคลอด เพราะคุณแม่ควรจะพักผ่อน
           
แม้จะไม่จำเป็นจริงๆ  แต่การนำลูกมาดูดนมแม่ทันทีหลังคลอดนั้น เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปอย่างราบรื่น  ทารกจะตื่นตัวและตอบสนองต่อแรงกระตุ้นในการดูดอย่างเต็มที่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด   การดูดนมทันทีของทารกจะช่วยให้มดลูกบีบตัว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน Oxytocin  (ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน) ทำให้แม่รู้สึกผูกพันกับลูกน้อย ทำให้น้ำนมมาเร็ว

5.แพทย์ท่านนั้นบอกกับคุณว่า เด็กทารกไม่มีปัญหากับการสับสนในการดูดนมแม่หรือนมขวดหรอก ควรจะหัดให้ดูดขวดเร็วๆ ลูกจะได้ไม่ปฏิเสธขวดในภายหลัง
            
การดูดนมแม่และดูดขวดนั้นมีลักษณะการดูดที่แตกต่างกัน การดูดขวดนมนั้น น้ำนมจะไหลเร็วตลอดเวลา โดยที่ลูกไม่ต้องออกแรงมาก ทำให้ลูกเคยชินกับการดูดขวดนมได้ง่าย เพียงแค่ให้ดูดครั้งหรือสองครั้ง หลังจากนั้นลูกจะปฎิเสธการดูดนมแม่ เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่า

6. แพทย์ท่านนั้นแนะนำให้คุณหยุดให้นมลูก เมื่อคุณหรือลูกไม่สบาย
            
ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อคุณหรือลูกป่วย มีน้อยกรณีมากที่จะไม่สามารถให้นมต่อได้  ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร มียาหลายชนิดที่แพทย์สามารถเลือกใช้ได้ โดยไม่กระทบกับการให้นมลูกของคุณ  หากได้รับคำแนะนำให้หยุดให้นมลูกจากแพทย์ท่านใด  แสดงว่าแพทย์นั้นไม่เห็นความสำคัญของ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  ขอให้สงสัยไว้ก่อน และลองปรึกษาแพทย์คนใหม่ดู  

7. แพทย์ท่านนั้นพูดหรือแสดงอาการแปลกใจว่า ทำไมคุณยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่  ทั้งๆ ที่ลูกอายุตั้ง 6 เดือนแล้ว
            
แพทย์จำนวนไม่น้อยสนับสนุนให้ทารกกินนมผสมจนกระทั่งอายุครบ 1 ปีหรือนานกว่า แต่ไม่เห็นด้วยเมื่อทารกกินนมแม่เกินกว่า 6 เดือน ด้วยตรรกะข้อใด แพทย์จึงเห็นว่าของที่ทำเลียนแบบอย่างนมผสมจึงกินได้นานกว่านมแม่ซึ่งเป็นของแท้

8.แพทย์ท่านนั้นบอกว่าหลังจาก 6 เดือน นมแม่ไม่มีประโยชน์แล้ว
           
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน นมแม่ก็ยังเป็น นม เหมือนเดิม มีไขมัน โปรตีน พลังงาน วิตามินและภูมิคุ้มกัน แอนตี้บอดี้ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคให้กับทารกได้ตลอดเวลา ภูมิคุ้มกันบางชนิดกลับมีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อทารกอายุมากขึ้น

9.แพทย์ท่านนั้นแนะนำว่า ไม่ควรปล่อยให้ลูกหลับคาอกแม่
            
ถ้าลูกหลับได้เองโดยไม่ต้องดูดนมแม่ก็เป็นเรื่องดี  แต่การที่ลูกหลับคาอกแม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ควรทำ  กลับเป็นเรื่องที่น่าเพลิดเพลินเสียด้วยซ้ำ  ลูกก็หลับ แม่ก็ได้พักผ่อน อบอุ่นทั้งแม่ทั้งลูก

10.แพทย์ท่านนั้นแนะนำให้คุณกลับไปพักผ่อนที่บ้าน โดยปล่อยให้ทารกแรกคลอดอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาล
            
หากทารกแรกคลอดไม่แข็งแรงพอที่จะกลับบ้าน แพทย์ที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะต้องช่วยเหลือให้ทารกได้ดูดนมแม่ ยิ่งทารกสุขภาพอ่อนแอเท่าใด การได้กินนมแม่ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นเท่านั้น เพราะน้ำนมแม่จะช่วยให้ทารกแข็งแรงได้เร็วขึ้น

Monday, May 6, 2013

นมเกลี้ยงเต้า เข้าใจให้ถูกต้อง


คำแนะนำที่แม่มือใหม่มักจะได้รับเมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็คือ ต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้า หรือลูกดูดได้เกลี้ยงเต้ากว่าใช้เครื่องปั๊ม ซึ่งอาจจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิด ตัวอย่างของความเข้าใจผิดก็คือ คำถามประเภทที่ว่า ปั๊มนมเสร็จแล้ว แต่ไม่เกลี้ยงเต้า บีบด้วยมือก็ยังออกมาอีก ทำยังไงถึงจะเกลี้ยงเต้า

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าคำว่า "เกลี้ยงเต้า" จนไม่มีน้ำนมเหลือในเต้านั้นจริงๆ แล้วจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแม่เลิกให้นม เลิกปั๊ม แล้วน้ำนมจึงจะหยุดผลิต หรือที่เรียกว่านมแห้งนั่นเอง ถ้ายังมีการให้ลูกดูด หรือปั๊มนมอยู่นั้น จะไม่มีทาง "เกลี้ยงเต้า" จริงๆ ได้เลย เพราะร่างกายเราผลิตน้ำนมอยู่ตลอดเวลาค่ะ น้ำนมจะถูกผลิตมาเก็บไว้ในเต้านม เมื่อพื้นที่เก็บเต็ม จะเกิดอาการคัด เพราะน้ำนมที่ผลิตใหม่ไม่มีที่จะเก็บ คุณแม่ต้องระบายน้ำนมออกโดยการให้ลูกดูดหรือปั๊มออก เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บน้ำนมที่ผลิตออกมาใหม่ ถ้าปล่อยให้เต้าเต็มบ่อยๆ จะเป็นการส่งสัญญาณว่าความต้องการน้ำนมลดลง ร่างกายจะผลิตน้ำนมลดลง

ร่างกายเราจะผลิตน้ำนมตอบสนองตามความต้องการของน้ำนมที่ระบายออก (ทั้งลูกดูด/ปั๊มด้วยเครื่อง/บีบด้วยมือ) ยิ่งระบายออกมาก ยิ่งผลิตมาก ถ้าระบายออกน้อย จะผลิตน้อย เวลาที่เราพูดคำว่า "เกลี้ยงเต้า" นั้น แท้จริงแล้วหมายถึง การระบายจนน้ำนมส่วนใหญ่ออกจากเต้าเกือบหมดเท่านั้นเองค่ะ ไม่ใช่เกลี้ยงจนไม่เหลืออะไรเลย ลองคิดถึงการบ้วนน้ำลายก็ได้ค่ะ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะบ้วนน้ำลายจนเกลี้ยงปาก เพราะน้ำลายจะถูกผลิตอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

กลับมาพูดถึงการให้ลูกดูดหรือเครื่องปั๊ม แบบไหนเกลี้ยงเต้ากว่ากัน ประเด็นนี้ก็สร้างความเข้าใจผิดได้มากทีเดียว เพราะการที่จะบอกว่าลูกหรือเครื่องปั๊ม แบบไหนเกลี้ยงเต้ากว่านั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่ะ ถ้าร่างกายผลิตน้ำนมได้พอดีๆ กับความต้องการของลูก ลูกจะดูดได้มากกว่าเครื่องปั๊ม เพราะน้ำนมที่เหลือน้อยๆ ลึกๆ ลูกดูดได้ดีกว่า แต่ถ้าร่างกายผลิตน้ำนมได้มากกว่าที่ลูกต้องการ การปั๊มนมจะปั๊มออกมาได้มากกว่าลูกดูด เพราะลูกจะดูดน้ำนมเท่าที่เขาต้องการเท่านั้น เมื่ออิ่มแล้วก็จะหยุดดูด แม้ว่าจะยังอมหัวนมแม่อยู่ แต่ลักษณะการดูดจะเปลี่ยนไป คือดูดเล่น ไม่เหมือนดูดกิน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่ที่ปั๊มนมบ่อยๆ มีปริมาณน้ำนมเหลือเฟือ เพราะเราใช้เครื่องปั๊มนมหลอกร่างกายว่ามีความต้องการน้ำนมมากๆ ถ้าให้ลูกดูดอย่างเดียวโดยไม่ปั๊ม น้ำนมจะผลิตออกมาน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เพียงพอนะคะ ให้ลูกดูดตลอดเวลาโดยไม่บีบหรือปั๊มเลย น้ำนมก็พอสำหรับลูก แต่ไม่มีเหลือเก็บเท่านั้นเอง

อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นก็คือ ถ้าร่างกายสามารถตอบสนองเครื่องปั๊มได้ดี (กลไกการหลั่งน้ำนมทำงานในขณะปั๊ม สังเกตได้จากการรู้สึกจี๊ดๆ แล้วน้ำนมพุ่งแรง อาจจะเกิดขึ้นได้หลายครั้งก็ได้ในการปั๊มแต่ละรอบ) เมื่อปั๊มเสร็จ (น้ำนมหยุดไหล เต้านิ่ม) เครื่องปั๊มนมจะสามารถระบายน้ำนมออกจากเต้าได้ประมาณ 80% หากบีบด้วยมือต่ออีกสักพัก อาจจะนำน้ำนมออกมาได้อีกสัก 10% แล้วก็จะบีบไม่ค่อยออก แต่ถ้าให้ลูกดูดต่อ ลูกก็จะดูดได้อีกประมาณ 5% ถ้าลูกหิว แล้วให้ดูดตอนท้ายแบบนี้ ลูกจะหงุดหงิดมาก เพราะเหลือน้ำนมน้อยมากแล้ว อีก 5% ก็จะค้างอยู่ในเต้า รอสัก 2-3 นาที ก็จะบีบออกมาได้อีก ไม่มีทางเกลี้ยงจริงๆค่ะ

คุณแม่ที่กังวลว่าลูกไม่ดูดเต้าเลย จะเลี้ยงนมแม่ได้นานแค่ไหน เลิกกังวลได้เลยค่ะ ตราบใดที่ไม่ขี้เกียจปั๊ม จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหนก็ได้ จะว่าไปคนที่ขยันๆ ปั๊มแต่ลูกไม่ดูด ผลิตน้ำนมได้มากกว่าคนที่ลูกดูดแต่ขี้เกียจปั๊มเสียอีก อย่าง webmother เอง ทำงานส่วนตัว ลูกดูดจากเต้ามากกว่าปั๊ม พอได้ 7-8 เดือนก็ปั๊มน้อยลง ลูกก็เริ่มกินอาหารเสริมมากขึ้น รู้เลยว่าน้ำนมน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่พอนะคะ เพราะลูก webmother ไม่ได้กินนมผสมเลยค่ะ ในขณะที่คนที่ปั๊มสม่ำเสมอ บางคนปีนึงแล้วก็ยังปั๊มได้ปริมาณเท่าๆ กับตอนหกเดือน แต่ของ webmother ตอนครบปี ปั๊มได้น้อยมากๆ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ ไม่ว่าจะให้ลูกดูดเต้า หรือปั๊มให้กิน จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหนก็ได้ตามต้องการค่ะ ขอให้สม่ำเสมอกับการปั๊มหรือลูกดูดเท่านั้นเอง

สำหรับคนที่ปั๊มนมเป็นประจำ แล้วตอบสนองกับเครื่องได้ดี คือกลไกการหลั่งน้ำนมทำงานทุกครั้ง จี๊ดไป 2-3 รอบแล้ว เต้านิ่มแล้ว จะต้องบีบด้วยมือต่อให้เกลี้ยงที่สุดเท่าที่จะเกลี้ยงได้หรือไม่นั้น ขอบอกว่าไม่จำเป็นนะคะ ทำหรือไม่ทำก็ได้ค่ะ สิ่งที่ควรทำคือ ปั๊มบ่อยๆ อย่าทิ้งช่วงนานมากกว่าค่ะ ระบายออก 80% ทุก 2-3 ชม. ร่างกายจะผลิตน้ำนมได้มากกว่าระบายออก 95% ทุก 4-5 ช.ม.ค่ะ

ส่วนคนที่เริ่มใช้เครื่องปั๊มนมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนจากปั๊มมือเป็นปั๊มไฟฟ้า หรือไม่เคยใช้เครื่องปั๊มนมมาก่อนเลยนั้น ขอให้ทำใจร่มๆ ก่อนนะคะ อย่าพยายามกดดันตัวเอง ด้วยการเอาไปเปรียบเทียบกับคนที่เขาเป็นมือโปรแล้ว การปั๊มนมก็เป็น skill ที่ต้องฝึกและเรียนรู้ค่ะ บางคนก็เรียนรู้เร็ว บางคนก็เรียนรู้ช้า ส่วนใหญ่คนที่เรียนรู้เร็ว จะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี ไม่ขี้กังวล ทำอะไรก็ชิลล์ๆ ฮอร์โมนในการผลิตน้ำนมจะหลั่งได้ดีถ้าไม่มีความเครียดค่ะ คนที่เครียดมาก กังวลมาก คาดหวังสูง ฮอร์โมนจะไม่หลั่ง น้ำนมจะไม่ออก

วิธีฝึกที่ง่ายที่สุดคือใช้ลูกเป็นตัวช่วยค่ะ ให้ลูกดูดข้างนึง แล้วปั๊มอีกข้างนึงไปพร้อมๆ กัน เพราะเวลาที่ลูกดูดนั้น กลไกการหลั่งน้ำนมจะทำงานได้ดี เพราะเรามีความรักต่อลูก บางคนไปทำงาน แค่นึกถึงลูก น้ำนมก็พุ่งเลย บางทีเสื้อเปียกไม่ทันรู้ตัว ฝึกบ่อยๆ ก็จะรู้จังหวะ แล้วก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้วมันง่ายนิดเดียว

การกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมก่อนการปั๊มนม จะช่วยให้ปั๊มนมได้ง่ายและเร็วขึ้น คนที่อารมณ์ดีๆ มีความสุขกับการปั๊มนม ฝึกจนโปรแล้ว แค่เอากรวยมาครอบเต้าก็จี๊ดได้เลย แต่คนที่ยังไม่โปรก็สามารถหัดกระตุ้นได้ด้วยการใช้มือนวดคลึงหัวนมเบาๆ (คลิกเพื่อดู VDO) นึกถึงลูกเยอะๆ เล่นเฟซ ดูทีวีเพลินๆ ในขณะที่ปั๊มนม อย่าเอาแต่นั่งจ้องว่าน้ำนมไหลหรือยัง ได้แค่ไหนแล้ว เพราะจะยิ่งเครียด น้ำนมจะยิ่งไหลน้อยค่ะ

ปั๊มนมใหม่ๆ ได้น้อย ก็อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ หนทางยาวไกล จะถึงเป้าหมายได้ เริ่มจากก้าวแรกทั้งนั้นค่ะ ขยันๆ ปั๊ม ฝึกชั่วโมงบินสะสมไปเรื่อยๆ น้ำนมเพิ่มทุกคนค่ะ เริ่มต้นใหม่ๆ อย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่นให้เสียกำลังใจ ดูแค่ตัวเองค่ะว่าวันนี้ได้เท่านี้ พรุ่งนี้ขยันมากกว่านี้ น้ำนมก็จะมากกว่านี้ เชื่อไหมคะ เผลอแป๊บเดียว ต้องซื้อตู้แช่แล้ว webmother ทำเว็บนี้มา 7 ปีแล้ว คนที่เดินไม่ถึงเป้าหมาย คือคนที่หยุดเดินก่อนค่ะ ถ้าไม่หยุดเสียก่อน ถึงทุกคน คนไหนเดินช้า ถึงช้า คนไหนเดินเร็ว ถึงเร็ว เพื่อลูก เชื่อว่าแม่ทุกคนทำได้ ขอเป็นกำลังใจให้แม่ทุกคนค่ะ :)

webmother@breastfeedingthai.com


Wednesday, May 1, 2013

ช่วงเวลาพิเศษหลังคลอด - 60 นาทีทอง


โดย พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

ช่วงเวลาคลอดเป็นช่วงเวลาที่มีการหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดออกมาเพื่อช่วยขบวน การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นแม่ ฮอร์โมนเหล่านี้นอกจากจะทำให้แม่รู้สึกดีและผ่อนคลายแล้วยังทำให้มีการ เปลี่ยนแปลงในระบบสมองและประสาทของแม่และลูก  ช่วยให้ทั้งคู่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพใหม่ได้ดีขึ้น
                             
ฮอร์โมนเหล่านี้ได้แก่  อ๊อกซิโทซิน(oxytocin) , เบต้า เอนโดฟิน (beta endorphin),  แอดดรีนาลิน และ นอร์แอดดรีนาลิน ( adrenaline and noradrenaline)  และ โปรแลคติน ( prolactin)   ระดับฮอร์โมนจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการคลอด   สูงสุดในขณะคลอดแล้วค่อยๆลดลงในเวลาประมาณ 60 นาที  ถ้าไม่มีการรบกวนการคลอด ฮอร์โมนทั้งหมดจะประสานการทำงานร่วมกันอย่างดี (  สิ่งที่อาจรบกวนได้เช่น แสงที่จ้า  และเสียงพูดคุยจ้อกแจ้กจอแจ)
                           
ในช่วงหลังคลอดที่ระดับฮอร์โมนในแม่จะเริ่มลดลงนี้เอง  ธรรมชาติก็ได้ให้ลูกที่เพิ่งคลอดนี้เองมาช่วยแม่ในการเพิ่มปริมาณฮอร์โมน ที่สำคัญเหล่านี้     เมื่อเอาทารกที่เพิ่งคลอดมาวางลงบนอกแม่ ผิวหนังที่สัมผัสกัน ปากของลูกที่เริ่มไซ้หาและเลียบริเวณเต้านมแม่  ตาลูกที่สบตากับแม่ จะช่วยให้แม่มีการหลั่งฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินเพิ่มมากขึ้น
                           
การที่แม่ลูกได้อยู่ใกล้ชิดกัน ทำให้ลูกได้กลิ่นกายแม่ และแม่ได้กลิ่นลูก การกระตุ้นสมองส่วนรับกลิ่นก็มีส่วนช่วยเพิ่มระดับฮ๊อกซิโทซินช่นเดียวกัน
                           
 นอกจากนี้ในตัวทารกเองก็มีการหลั่งฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินในระดับสูงสุดในช่วง 30 นาทีหลังคลอดด้วยและยังคงระดับสูงไปอีกอย่างน้อย 4 วันหลังคลอด  ดังนั้น ในช่วงเวลาพิเศษหลังคลอดนี้ ทั้งแม่และลูกจึงมีความสงบและพร้อมที่จะทำความรู้จักกัน
ผลดีของการมีระดับอ๊อกซิโทซินสูงในช่วงหลังคลอด
                           
 -ช่วยให้มดลูกหดตัวดีขึ้น ลดการตกเลือดหลังคลอด       ในระยะตั้งครรภ์ใกล้คลอด จะมีเอสโตรเจนไป ทำให้มีการเพิ่มจำนวน ตัวรับอ๊อกซิโทซิน ( oxytocin receptor)  ที่มดลูก  เพื่อเตรียมให้มดลูกหดตัวตอบสนองต่ออ๊อกซิโทซินได้ดีขึ้น  จึงตกเลือดน้อยลง                      
-ช่วยทำให้มีความผ่อนคลาย ลดความเครียดลง                      
-ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดความดันโลหิต เพราะออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนของระบบหัวใจด้วย
-อ๊อกซิโทซินมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า  “ ฮอร์โมนแห่งความรัก” เนื่องจากฮอร์โมนนี้ทำให้แม่มีความเป็นแม่มากขึ้น  มีพฤติกรรมปกป้องลูกอ่อน เอาความต้องการของลูกมาก่อนความต้องการของตัวเอง

จากการศึกษาวิจัยในโรงพยาบาลในประเทศสวีเดน พบว่าถ้าให้ริมฝีปากของทารกได้สัมผัสหัวนมแม่ภายในช่วง  1  ชั่วโมงแรกหลังคลอด แม่จะขอให้ลูกมาอยู่ด้วยกันนานขึ้น 100 นาทีทุกๆวัน เปรียบเทียบกับแม่ที่ไม่เคยเอาลูกมาดูดนมแม่ในช่วงชั่วโมงแรก      แสดงว่า การที่แม่ลูกได้ใกล้ชิดกันตั้งแต่ชั่วโมงแรก ทำให้แม่มีความผูกพันและอยากให้ลูกมาอยู่ด้วยกันนานขึ้น

การให้ลูกดูดนมแม่ตั้งแต่ระยะแรกช่วยให้ระบบการดูดซึมอาหารของลูกดีขึ้น
             
การให้นมแม่ตั้งแต่ช่วงแรกๆยังมีผลระยะยาวต่อระบบทางเดินอาหารของลูกด้วย กล่าวคือ ในขณะที่ทารกดูดเต้านมแม่ จะมีการหลั่งฮอร์โมนของระบบทางเดินอาหารออกมาถึง 19 ชนิด ยกตัวอย่างเช่น gasrtrin ,  Cholecystokinin  ฮอร์โมน 5 จาก 19 อย่างนี้จะกระตุ้นการเจริญเติบโตของส่วนเยื่อบุผิวทางเดินอาหารของลูก ทำให้มีการเพิ่มพื้นผิวการดูดซึมอาหารให้มากขึ้น
             
การที่ปากทารกสัมผัสกับหัวนมแม่ ทำให้มีอ๊อกซิโทซินเพิ่มขึ้นในสมองของทั้งแม่และลูก   อ๊อกซิโทซินไปกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสที่ไปเลี้ยงบริเวณทางเดินอาหาร ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนของทางเดินอาหารมากขึ้นด้วย
                           
การที่ทารกได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกๆหลังคลอด  ผิวหนังได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เติมเต็มความต้องการทางร่างกายของลูก  มีการปรับอุณหภูมิของลูกอย่างมีประสิทธิภาพโดยตัวของแม่เอง   ทารกมีโอกาสได้เข้าถึงเต้านมแม่ได้ง่าย และร้องน้อยกว่าทารกที่ถูกแยกไปห่อตัวมิดชิดอยู่ในเตียงทารก
                     
“ทารกแรกเกิดครบกำหนดที่แข็งแรงดีควรได้อยู่ใกล้ชิดในอ้อมอกของแม่ตั้งแต่60 นาทีแรกหลังคลอด”

กลิ่นหืนของน้ำนมแช่แข็ง


โดยคุณหมอศิริพัฒนา

น้ำนมที่แช่แข็งจะมีกลิ่นที่ไม่เหมือนกับน้ำนมแม่สดๆ ทำให้ทารกบางคนไม่ชอบในระยะแรกๆ ที่หัดให้กินก็อาจจะให้น้ำนมปั๊มสดๆ แต่เติมน้ำนมที่ละลายจากการแช่แข็งจำนวนน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนทีละน้อยให้เขาค่อยๆ ปรับตัวค่ะ 

เกี่ยวกับเรื่องกลิ่นในน้ำนมแช่แข็งที่คุณหมอเคยตอบไว้

น้ำนมแม่จะมีกลิ่นเปลี่ยนแปลงได้ตามอาหารที่แม่กินอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นกลิ่นของพวกน้ำมันหอมระเหยในอาหาร เช่น น้ำนมแม่กลิ่นกระเพรา กลิ่นน้ำพริกปลาทู หรือกลิ่นเครื่องแกงต่างๆจะออกมากับน้ำนมแม่ได้ แต่โชคดีที่เด็กนมแม่มักจะไม่ค่อยว่าอะไรกับกลิ่นพวกนี้ ก็ยังกินได้กินดีอยู่ 

ทีนี้น้ำนมแม่ที่แช่แข็งแล้ว นำมาละลายเป็นน้ำนม มักจะมีกลิ่นหืนๆ ได้ทั้งนี้เพราะ ในนมแม่มีเอนไซม์ ชื่อ ไลเปส(lipase) ซึ่งแม่แต่ละคนจะมีเอนไซม์นี้มากน้อยแตกต่างกัน

หน้าที่ของไลเปส
1. ย่อยให้ไขมันในนมแม่แตกตัว
2. ทำให้ไขมันเป็นอนุภาคเล็กๆ จะได้ผสมเข้ากับโปรตีนเวย์ได้ดี
3. ไขมันที่แตกตัวทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามิน เอ และดี (ที่ละลายอยู่ในไขมันของนมแม่) ได้ดี

เพราะฉะนั้นถ้านมใครมีไลเปสมากหน่อย ก็จะย่อยไขมันได้มากขณะที่เก็บอยู่ การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ทำให้เกิดกลิ่นหืนได้นมที่มีกลิ่นหืนไม่เป็นอันตรายกับลูกให้กินได้ เพียงแต่บางคนอาจจะไม่ชอบกินเท่านั้น

ถ้านมแม่ที่เก็บสต๊อคไว้มีกลิ่น
1. อันดับแรกให้ดูวิธีการเก็บก่อนค่ะ ว่า เครื่องปั๊มที่ใช้ทำความสะอาดดีไหม นึ่งฆ่าเชื้อโรคทุกวันหรือเปล่า
2. ภาชนะที่เก็บนมสะอาดปราศจากเชื้อ ถ้าเก็บในถุงพลาสติกแล้วมีกลิ่น อาจจะลองเก็บใส่ภาชนะแก้ว (แต่ก็อาจจะกินเนื้อที่เก็บมาก)
3. เก็บน้ำนมอย่างไร ดีที่สุดคือ แช่แข็งเร็วที่สุดหลังจากปั๊มออกมา (ถ้าคิดว่าจะไม่ใช้นมนั้นภายใน 48 ชม.)
4. ไม่แช่แข็งซ้ำนมที่ละลายมาแล้ว และน้ำนมที่ละลายจากการแช่แข็งแล้ว ต้องใช้ภายใน 24 ชม. ทีนี้เวลาที่เอานมแม่ที่ปั๊มใหม่ไปเทรวมกับนมที่แข็งแล้ว จะทำให้นมที่แข็งแล้วละลายบางส่วนได้ ทางที่ดีให้แช่เย็นก่อนที่จะเทรวมกัน เพื่อไม่ให้นมที่แข็งอยู่ละลายไปมาก
5. น้ำนมอาจจะดูดกลิ่นอื่นๆในตู้เย็นเข้ามาได้ ถ้าเก็บนมแม่รวมกับอาหารอื่นๆ ต้องปิดอาหารอื่นๆให้มิดชิดไม่ให้กลิ่นออกมาค่ะ

จะแก้กลิ่นหืนที่เกิดจากเอนไซม์ไลเปสในนมแม่ได้อย่างไร

สำหรับคุณแม่ที่พยายามดูแลการเก็บน้ำนมอย่างเต็มที่แล้ว แต่น้ำนมก็ยังหืนมากๆ แล้วลูกไม่ยอมกินจริงๆ วิธีแก้ก็คือ ให้ปั๊มกินวันต่อวัน ถ้าแช่ช่องธรรมดา 2-3 วัน มักจะไม่หืนส่วนนมที่ฟรีซก็เก็บไว้ยามจำเป็น อันที่จริงส่วนใหญ่นมที่ปั๊มเก็บจนเต็มตู้นั้นมักจะไม่ได้ใช้ เท่าที่เห็นมามักต้องนำไปบริจาคหรือบางคนก็ตัดใจทิ้ง แม่ที่ลูกได้กินนมแม่ทั้งหมดที่ปั๊มส่วนใหญ่เป็นแม่ที่ลูกไม่ดูดเต้า เพราะลูกที่ติดเต้า มักไม่ค่อยชอบนมปั๊มใส่ขวดค่ะ

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีวิธีแก้น้ำนมหืนอีกวิธี ที่อาจจะลองนำไปใช้กันดูได้ก็คือ การทำให้น้ำนมร้อนเพื่อยับยั้งการย่อยไขมันของไลเปสก่อนนำไปแช่แข็ง น้ำนมที่หืนไปแล้ว แก้ด้วยวิธีนี้ไม่ได้นะคะ ทำได้เฉพาะน้ำนมที่ปั๊มหรือบีบใหม่ๆ เท่านั้น

วิธีการก็คือ ทันทีที่บีบหรือปั๊มน้ำนมออกมา ให้นำไปต้มจนมีอุณหภูมิ 82 C สังเกตได้จากเริ่่มเห็นฟองเล็กๆ ผุดขึ้นรอบๆ หม้อ (อย่าปล่อยให้ถึงจุดที่เดือดเต็มหม้อนะคะ) หลังจากนั้นให้ดับไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วค่อยนำไปแช่แข็ง

การต้มนมแบบนี้ จะทำลายภูมิคุ้มกันบางส่วนและสารอาหารบางอย่างในน้ำนมแม่ได้ (แต่ก็ยังมีคุณค่ามากกว่านมผสม) ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล หากลูกยังได้ดูดนมแม่จากเต้าอยู่ด้วย


นมแม่พอหรือเปล่า?



คุณแม่ที่ให้ลูกกินนมตัวเองมักจะมีคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกินนมได้มากเพียงพอ เนื่องจากเต้านมของคนเราไม่ใช่ขวดนม เราจึงไม่สามารถยกเต้านมขึ้นส่องกับไฟเพื่อดูว่าลูกกินนมไปได้กี่ออนซ์ ประกอบกับสังคมของเราก็เป็นสังคมที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเลข มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะให้บรรดาคุณแม่ทำใจรับได้กับการไม่สามารถวัดหรือระบุได้อย่างแม่นยำว่าลูกกินนมไปเท่าไร อย่างไรก็ตามเรามีวิธีการหลายวิธีที่จะช่วยให้รู้ว่าลูกกินนมได้มากพอหรือเปล่า ในระยะยาวการเพิ่มน้ำหนักตัวเป็นสิ่งที่ชี้วัดได้ดีที่สุด แต่อย่าลืมว่าเกณฑ์การเพิ่มน้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับทารกที่กินนมผสมอาจจะไม่ใช่เกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับทารกที่กินนมแม่

วิธีที่จะช่วยให้รู้ว่าลูกกินนมได้มากพอ


1. การดูดนมของทารกมีลักษณะเฉพาะ เด็กทารกที่กินนมได้มากพอ จะมีการดูดนมจากอกแม่ในลักษณะพิเศษเฉพาะ ในขณะที่เด็กทารกกินนมได้ (ไม่ใช่ แค่เพราะเขามีเต้านมอยู่ในปากและทำท่าดูด) คุณจะต้องเห็นว่าหลังจากที่เขาอ้าปากและดูดนมได้ปริมาณมากพอ จะต้องมีการหยุดเคลื่อนไหวตรงปลายคางก่อนที่เขาจะปิดปาก ดังนั้นการดูดนม 1 ครั้ง คือ อ้าปากกว้าง --หยุด -->ปิดปาก

ถ้าคุณต้องการจะสาธิตการดูดแบบนี้ด้วยตัวเอง ให้ลองเอานิ้วชี้ใส่ปากตัวเอง และดูดนิ้วเหมือนกับดูดน้ำจากหลอดกาแฟ ขณะที่คุณดูดเข้าไป คางของคุณจะลดต่ำลงและค้างอยู่ในตำแหน่งนั้นไปเรื่อยๆ เมื่อคุณหยุดดูด คางของคุณจะกลับมาที่ตำแหน่งเดิม ถ้าคุณสังเกตเห็นการหยุดเคลื่อนไหวแบบนี้ที่บริเวณคางของลูก นั่นหมายความว่า ลูกของคุณดูดนมได้จนเต็มปากของเขาในการดูดแต่ละครั้ง ยิ่งมีการหยุดเคลื่อนไหวนานเท่าไร ทารกก็ยิ่งดูดนมได้มากเท่านั้น

เมื่อคุณเข้าใจการดูดนมที่มีการหยุดเคลื่อนไหวของคางแบบที่ว่านี้แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับคำแนะนำไร้สาระต่างๆ ที่บอกต่อๆ กันมาเกี่ยวกับการให้ลูกกินนมแม่  เช่น ต้องให้ลูกดูดนมจากเต้านมข้างละ 20 นาที ทารกที่ดูดนมในลักษณะนี้ (มีการหยุดเคลื่อนไหวคาง) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 20 นาที อาจจะไม่ยอมดูดนมอีกข้างหนึ่งเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่เด็กทารกที่อมหรือตอดหัวนมอยู่ 20 ชั่วโมง (โดยไม่ได้กินนม) ก็จะยังรู้สึกหิวอยู่หลังจากแม่ให้นมเสร็จแล้ว เว็บไซต์ Dr.Jack (เลือกหัวข้อ Pause in chin) มีวิดีโอแสดงการหยุดเคลื่อนไหวคางของทารกในระหว่างดูดนม

2. อุจจาระของทารก ช่วงสองสามวันแรกหลังคลอด ทารกจะถ่ายอุจจาระเป็นสีเขียวเข้มหรือเกือบดำที่เรียกว่ามีโคเนียม (meconium) ทารกจะสะสมมีโคเนียมไว้ในช่องท้องในระหว่างที่อยู่ในครรภ์แม่และจะถ่ายมันออกมาในช่วง 1-2 วันแรก เมื่อถึงวันที่ 3 อุจจาระควรจะสีอ่อนลง หลังจากที่เด็กได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น ตามปกติเมื่อถึงวันที่ 5 อุจจาระควรจะมีลักษณะเหมือนอุจจาระที่เกิดจากนมแม่แล้ว อุจจาระจากนมแม่จะค่อนข้างเหลวจนถึงเป็นน้ำ สีเหลืองมัสตาร์ด และมักจะมีกลิ่นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามลักษณะของอุจจาระอาจแตกต่างไปจากนี้มากก็ได้ มันอาจจะเป็นสีเขียวหรือสีส้ม อาจมีคราบน้ำนมหรือเมือกปนอยู่ด้วย หรืออาจจะเป็นฟองคล้ายครีมโกนหนวด (เนื่องจากฟองอากาศ) ความแตกต่างของสีสันไม่ได้แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติ สำหรับทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวและเริ่มถ่ายอุจจาระที่มีสีอ่อนลงในวันที่ 3 นั่นหมายความว่าเขามีอาการปกติดี

การสังเกตความถี่และปริมาณการถ่ายอุจจาระของลูก (โดยไม่หมกมุ่นหรือวิตกกังวลกับมันมากเกินไป) เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการดูว่าลูกกินนมได้มากพอหรือเปล่า (รองจากการสังเกตวิธีการดูดนมที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) หลังจากผ่านไป 3-4 วัน ทารกควรจะถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น และเมื่อถึงหนึ่งสัปดาห์เขาควรจะถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน โดยอุจจาระควรจะเป็นสีเหลือง ยิ่งไปกว่านั้นทารกส่วนใหญ่มักจะอุจจาระใส่ผ้าอ้อมทุกครั้งที่แม่ให้กินนม ถ้าหากลูกยังคงถ่ายออกมาเป็นมีโคเนียมในวันที่ 4 หรือ 5 คุณแม่ควรจะพาไปหาหมอภายในวันเดียวกัน ทารกที่ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีน้ำตาลอย่างเดียว อาจจะหมายความว่าเขากินนมไม่ได้มากพอ แต่นี่ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่เชื่อถือสักเท่าไร

ทารกที่กินนมแม่บางคน หลังจากผ่านไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ จู่ๆ อาจจะเปลี่ยนเวลาการถ่ายอุจจาระจากวันละหลายๆ ครั้ง ไปเป็น 1 ครั้งทุกๆ 3 วันหรือห่างกว่านั้น  ทารกบางคนอาจจะยืดเวลาไปถึง 15 วันหรือมากกว่าโดยไม่มีการถ่ายอุจจาระเลย ตราบเท่าที่ทารกยังมีอาการอื่นๆ เป็นปกติดี และอุจจาระที่ถ่ายออกมายังคงเป็นสีเหลืองและมีลักษณะเหลวนุ่ม ก็ไม่ถือว่าเขามีอาการท้องผูกและไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อบำบัดรักษา เพราะไม่มีความจำเป็นต้องบำบัดรักษาอาการที่เป็นปกติดี
สำหรับทารกอายุตั้งแต่ 5-21 วันที่ไม่ได้ถ่ายอุจจาระปริมาณมากๆ อย่างน้อย 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ควรถูกพาไปพบผู้เชี่ยวชาญที่คลินิกนมแม่ในวันเดียวกัน โดยทั่วไปการถ่ายอุจจาระปริมาณน้อยๆ และไม่บ่อย ในช่วงอายุเท่านี้จะเป็นการแสดงว่าทารกกินนมได้ไม่เพียงพอ  แน่นอนว่ามีข้อยกเว้นสำหรับข้อสังเกตนี้ บางทีทารกก็อาจจะปกติดี แต่จะเป็นการดีกว่าถ้าเขาได้รับการตรวจเช็คจากผู้เชี่ยวชาญ

3. ปัสสาวะ หลังจากทารกอายุประมาณ 4-5 วัน ถ้าเขาฉี่จนผ้าอ้อมเปียกชุ่ม 6 ผืนใน 24 ชั่วโมง (เน้นว่าเปียกชุ่ม ไม่ใช่แค่เปียกๆ) คุณแม่สามารถจะแน่ใจได้ค่อนข้างมากว่าลูกกินนมได้มากเพียงพอ (ในกรณีที่ให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว) อย่างไรก็ตามผ้าอ้อมสมัยใหม่แบบใช้แล้วทิ้งที่โฆษณาว่าซูเปอร์ดรายมักจะให้สัมผัสที่ค่อนข้างแห้งถึงแม้ว่าจะกักเก็บปัสสาวะไว้จนเต็มแผ่น แต่ผ้าอ้อมที่เต็มไปด้วยปัสสาวะจะต้องหนัก แน่นอนว่าการสังเกตปริมาณปัสสาวะนี้ใช้ไม่ได้ในกรณีที่คุณแม่ให้ลูกกินน้ำเพิ่มเติมนอกเหนือจากการให้กินนมแม่ (ซึ่งการให้กินน้ำเพิ่มเติมไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทารกที่กินนมแม่เลย ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม และยิ่งถ้าคุณแม่ให้ลูกกินน้ำโดยใช้ขวด มันก็อาจจะไปรบกวนหรือส่งผลกระทบกับการดูดนมแม่อีกด้วย) หลังจากผ่านไปสามสี่วัน ปัสสาวะของทารกควรจะจางลงจนแทบไม่มีสี แต่การมีปัสสาวะที่สีเข้มขึ้นเป็นครั้งคราวก็ไม่ใช่เรื่องต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด

หลังจากมีอายุได้ 2-3 วัน ทารกบางคนอาจจะปัสสาวะเป็นสีชมพูหรือแดง นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตื่นตระหนกและไม่ได้หมายความว่าทารกขาดน้ำ ยังไม่มีใครรู้สาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นหรือว่ากระทั่งว่ามันเป็นสิ่งผิดปกติหรือเปล่า แน่นอนว่ามันเกี่ยวข้องกับการกินนมปริมาณน้อยกว่าของเด็กกินนมแม่เปรียบเทียบกับเด็กที่กินนมผสม แต่เด็กที่กินนมผสมก็ไม่ใช่เกณฑ์มาตรฐานที่จะนำมาใช้ตัดสินเด็กที่กินนมแม่ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดมีปัสสาวะที่มีสีเช่นนี้ขึ้น คุณแม่ควรจะใส่ใจกับการทำให้ลูกงับหัวนมได้ดีและทำให้เขาสามารถกินนมได้ในระหว่างที่ดูดนมจากเต้านม ช่วงวันแรกๆ ทารกต้องรู้จักที่จะงับหัวนมของแม่ได้ เขาจึงจะสามารถกินนมแม่ได้

การให้ทารกกินน้ำจากขวดถ้วย หรือจากปลายนิ้ว จะไม่ช่วยแก้ปัญหานี้ แต่จะแค่ช่วยให้ทารกออกจากโรงพยาบาลได้เพราะปัสสาวะของเขาไม่เป็นสีแดงแล้ว การแก้ไขวิธีการที่ทารกงับหัวนมและการบีบหน้าอก มักจะแก้ปัญหานี้ได้ (ดูแผ่นพับ B เรื่อง วิธีการเพิ่มปริมาณการกินนมแม่ให้กับทารก) แต่ถ้าหากว่าการแก้ไขวิธีการงับหัวนมและการบีบหน้าอกไม่ทำให้ทารกกินนมได้มากขึ้น ก็ยังมีวีธีอื่นๆ ที่จะทำได้ทารกได้รับของเหลวมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้ขวดนม (ดูแผ่นพับที่ 5 เรื่องการใช้อุปกรณ์เสริมการให้นมหรือlactation aid) นอกจากนี้การจำกัดระยะเวลาหรือความถี่ในการให้นม ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทารกกินนมได้น้อยลงด้วยเหมือนกัน

ข้อสังเกตเหล่านี้ไม่ใช่วิธีการที่ดีในการตัดสินว่าลูกกินนมได้มากพอหรือไม่


1.      คุณแม่ไม่มีอาการคัดเต้านม เป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ส่วนใหญ่ที่จะไม่รู้สึกคัดเต้านมในระยะสองสามวันแรกหรือกระทั่งสัปดาห์แรกหลังคลอด  ร่างกายของคุณแม่จะปรับตัวตามความต้องการของลูก การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างฉับพลัน คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่บางคนสามารถให้นมลูกได้อย่างปกติดีไปตลอดโดยไม่เคยมีอาการคัดเต้านมเลย

2.      ลูกนอนหลับได้ตลอดทั้งคืน อาจจะไม่ได้หมายความว่าทารกกินนมจนอิ่มพอเสมอไป ทารกอายุ 10 วันที่นอนหลับได้ตลอดทั้งคืน อาจจะไม่ได้รับนมมากเพียงพอ ทารกที่ง่วงนอนมากเกินไปจนต้องถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมากินนม หรือทารกที่ เลี้ยงง่าย” ไม่ร้องงอแงเลย ก็อาจจะไม่ได้รับนมมากเพียงพอ แน่นอนว่าอาจจะมีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ แต่คุณแม่น่าจะขอคำแนะนำจากแพทย์โดยเร็ว

3.      ลูกร้องไห้งอแงหลังจากให้นมเสร็จแล้ว แม้ว่าทารกอาจจะร้องไห้หลังจากกินนมเพราะยังไม่อิ่ม แต่ก็อาจจะมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ทารกร้องไห้งอแงด้วย (เช่น อาการโคลิก ดูแผ่นพับที่ 2 เรื่องอาการโคลิกในทารกที่กินนมแม่) อย่าจำกัดระยะเวลาในการให้นม ควรให้ลูกกินนม ให้หมด ข้างแรกก่อน แล้วจึงเปลี่ยนให้เขาไปกินอีกข้างหนึ่ง

4.      ลูกกินนมบ่อย หรือ กินนมเป็นระยะเวลานาน สำหรับคุณแม่คนหนึ่ง การให้ลูกกินนมทุกๆ ชั่วโมงอาจจะเรียกว่าบ่อย แต่สำหรับคุณแม่อีกคนหนึ่งการให้นมทุก ชั่วโมงอาจจะห่างเกินไป สำหรับคุณแม่คนหนึ่งการให้ลูกกินนมนาน 30 นาทีอาจจะถือว่านาน แต่กับคุณแม่อีกคนหนึ่งอาจจะถือว่าไม่นาน ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าควรจะให้นมลูกนานเท่าไรหรือบ่อยแค่ไหน มันไม่เป็นความจริงที่ว่าทารกจะกินนม 90% ของปริมาณที่กินได้ในแต่ละครั้งในช่วง 10 นาทีแรก ปล่อยให้ลูกเป็นคนกำหนดตารางการกินนมของเขาเอง ถ้าทารกสามารถดูดและกินนมจากเต้านมได้ และถ่ายอุจจาระเป็นสีเหลืองปริมาณมากๆ อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน ก็แสดงว่าทุกสิ่งทุกอย่างราบรื่นดี อย่าลืมว่าคุณอาจจะให้นมลูกนาน ชั่วโมง แต่ถ้าเขาได้กินนมหรือดูดนม (โดยมีการ อ้าปากกว้าง  หยุด  ปิดปาก) จริงๆ เพียงแค่ นาที เขาก็จะยังรู้สึกหิวอยู่ดี ถ้าทารกผล็อยหลับไปอย่างรวดเร็วในระหว่างให้นม คุณแม่สามารถบีบหน้าอกเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลอย่างต่อเนื่องได้ (ดูแผ่นพับ 15 เรื่องการบีบหน้าอก) ถ้าคุณแม่ยังมีความวิตกกังวล ก็อาจขอคำปรึกษาจากคลีนิกนมแม่ได้ แต่ยังไม่ควรเริ่มให้นมเสริมในทันที ถ้าหากว่าการให้นมเสริมเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ก็ยังมีการให้อาหารเสริมวิธีอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้จุกนมยาง (ดูแผ่นพับที่ 5 เรื่องเรื่องการใช้อุปกรณ์เสริมการให้นมหรือlactation aid)

5.      ฉันปั๊มนมได้แค่ครึ่งออนซ์ เรื่องนี้ไม่มีความหมายอะไรเลย และมันไม่ควรจะส่งผลกระทบอะไรกับคุณด้วย ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรจะปั๊มนมเพียงเพราะต้องการจะรู้ว่าจะได้น้ำนมปริมาณเท่าไร คุณแม่ส่วนใหญ่มีน้ำนมมากมายเพียงพอ แต่ปัญหามักเกิดจากการที่ทารกไม่สามารถกินนมที่คุณแม่มีอยู่ได้ต่างหาก ซึ่งอาจเกิดจากเขาไม่สามารถงับหัวนมได้อย่างถูกต้อง หรือเขาไม่สามารถดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ทั้งสองอย่าง ปัญหาเหล่านี้มักจะแก้ไขได้อย่างง่ายดาย

6.      ทารกยังจะกินนมขวดต่อหลังจากกินนมแม่แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเขายังหิวอยู่เสมอไป และไม่ใช่วิธีการทดสอบที่ดีด้วย เนื่องจากการให้กินนมขวดอาจจะไปรบกวนการกินนมจากอกแม่

7.      จู่ๆ ทารกวัย สัปดาห์ก็ดึงตัวเองออกจากเต้านมแม่ แต่ก็ยังมีทีท่าว่าหิวอยู่ นี่ไม่ได้หมายความว่า น้ำนมของคุณแม่กำลังจะแห้ง หรือมีปริมาณลดลงแต่อย่างใด ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ระหว่างที่คุณแม่ให้นม ทารกมักจะผล็อยหลับไปเวลาที่น้ำนมไหลช้าลงถึงแม้ว่าเขาจะยังกินไม่อิ่ม แต่เมื่อเขาโตขึ้น (ประมาณ 4-6 สัปดาห์) เขาจะไม่ผล็อยหลับในระหว่างกินนมเหมือนเดิมแล้ว แต่จะดึงตัวเองออกจากเต้านมหรือแสดงอาการหงุดหงิดแทน ปริมาณน้ำนมของคุณแม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่พฤติกรรมของลูกต่างหากที่เปลี่ยน คุณแม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการบีบหน้าอกเพื่อช่วยเพิ่มการไหลของน้ำนม (ดูแผ่นพับที่ 15 เรื่องการบีบหน้าอก)

หมายเหตุเกี่ยวกับตาชั่งและน้ำหนัก

1. ตาชั่งแต่ละเครื่องมีความแตกต่างกัน เรามีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าตาชั่งแต่ละเครื่องแตกต่างกันอย่างมาก บ่อยครั้งที่มีการจดน้ำหนักผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง นอกจากนี้ผ้าอ้อมที่เปียกชุ่มอาจจะหนัก 250 กรัม (หรือ 1/2 ปอนด์) หรือมากกว่า ดังนั้นควรชั่งน้ำหนักทารกโดยไม่ใส่ผ้าอ้อม หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่ก่อนชั่งน้ำหนัก

2. กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเพิ่มน้ำหนักตัวส่วนใหญ่นำมาจากการสังเกตการเจริญเติบโตของเด็กที่กินนมผสม กฎเกณฑ์เหล่านี้อาจจะใช้ไม่ได้ในเด็กที่กินนมแม่ แม้ว่าทารกที่กินนมแม่จะมีการเพิ่มน้ำหนักอย่างช้าๆ ในช่วงแรก แต่เราสามารถชดเชยในภายหลังได้ โดยการแก้ไขวิธีการให้ลูกกินนมแม่ให้ถูกต้องขึ้น ตารางแสดงพัฒนาการของการเจริญเติบโตควรใช้เป็นเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น


แผ่นพับที่ 4 - ลูกกินนมได้มากเพียงพอหรือเปล่า (สิงหาคม 2549)
แปลและเรียบเรียงโดย นิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์

Monday, April 29, 2013

10 Facts on Breastfeeding

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่ให้น้ำหรืออาหารอื่น หลังจากนั้นให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมจนถึงไปถึงสองปีหรือมากกว่า โดยมีคำแนะนำเพิ่มเติมดังนี้
  • ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่ทันทีภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด
  • ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่ตามที่ลูกต้องการตลอดเวลา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน (ไม่ถูกกำหนดด้วยเวลา) 
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมหรือจุกหลอก

Tuesday, April 23, 2013

ขนาดกระเพาะทารก


กระเพาะของทารก วันที่ 1-10 

ภาพข้างล่างแสดงขนาดโดยเฉลี่ยของกระเพาะทารก และปริมาณน้ำนมที่สามารถรับได้หลังคลอด จากภาพนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมน้ำนมเหลืองหรือหัวน้ำนม ซึ่งมีปริมาณไม่มาก สามารถทำให้ทารกแรกคลอดอิ่มได้

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิจัยยังพบอีกว่าในวันที่ 1 กระเพาะเล็ก ๆ ของทารกไม่มีความยืดหยุ่นมากเท่ากับวันถัดมา

พยาบาลจำนวนมากมายได้เรียนรู้เรื่องนี้ด้วยวิธีที่ไม่ค่อยโสภาเท่าไร คือวันแรกที่พยาบาลป้อนนมขวดแค่หนึ่งหรือสองออนซ์ ทารกจะอาเจียรนมส่วนใหญ่ออกมา ผนังของกระเพาะทารกแรกคลอดยังมีกล้ามเนื้อที่กระชับแน่น จึงดันน้ำนมส่วนเกินออกมา แทนที่จะขยายออกเพื่อรองรับปริมาณน้ำนม

ในวันที่ 1 กระเพาะของทารกสามารถรับน้ำนมได้ประมาณ 1/6 ถึง 1/4 ออนซ์ (5-7 มล.) ต่อการกินนมหนึ่งครั้ง ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจเลยว่า น้ำนมเหลืองในเต้านมของแม่ก็จะมีปริมาณเท่านี้เช่นกัน

เมื่อถึงวันที่ 3 ทารกได้กินนมปริมาณน้อย ๆ เป็นเวลาหลาย ๆ ครั้งแล้ว กระเพาะก็จะขยายขึ้นจนมีขนาดเท่ากับลูกปิงปอง

เมื่อถึงวันที่ 10 จะมีขนาดเท่า ๆ กับไข่ไก่ฟองใหญ่

มันเป็นความคิดที่ดีหรือไม่ที่จะให้ทารกแรกคลอดกินนมมากขึ้นในแต่ละครั้งที่กินนม เพื่อจะได้ทำให้กระเพาะขยายได้เร็วขึ้น?

คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะในกรณีนี้ไม่ใช่ว่ายิ่งมากยิ่งดี การให้ทารกกินนมจำนวนน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เป็นการสร้างนิสัยการกินที่ดีต่อสุขภาพให้กับทารกตั้งแต่แรกคลอด ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากบอกว่าเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพของผู้ใหญ่ที่จะกินอาหารจำนวนน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันในทารก

การพยายามให้ทารกกินนมเพิ่มขึ้นอาจกลายเป็นการให้ทารกกินนมมากเกินไป ถ้าความรู้สึกว่าอิ่มมากเกินไปกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับทารก ก็อาจจะนำไปสู่นิสัยการกินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอ้วนในภายหลัง

By Nancy Mohrbacher, IBCLC
Co-author of Breastfeeding Made Simple and The Breastfeeding Answer Book

ตารางการให้นมแม่


คุณแม่จำนวนมากถูกบริษัทผู้ผลิตนมผสมล่อหลอกให้เข้าใจผิดว่าทารกจะต้องการกินนมปริมาณเท่านั้นเท่านี้ตั้งแต่แรกคลอดและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมากและทำให้แม่ไม่มั่นใจว่าตนเองจะผลิตน้ำนมให้ลูกได้พอ

ความเป็นจริงแล้ว กระเพาะทารกแรกคลอดมีขนาดเท่าลูกแก้วลูกเล็กๆ เท่านั้นเอง เวลาที่แม่กังวลว่านมยังไม่มานั้น จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องกังวลเลย เพราะทารกแรกคลอดต้องการน้ำนมเพียงไม่กี่หยดที่เราเห็นมันซึมๆ ออกมาแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว เมื่อดูดหรือปั๊มบ่อยๆ ปริมาณน้ำนมก็จะค่อยๆ เพิ่มตามความต้องการของทารกได้อย่างสมดุล

น้ำนมแม่มีสารอาหารที่ทารกดูดซึมและนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านมผสม ดังนั้นปริมาณน้ำนมแม่ที่ทารกต้องการจึงไม่ได้มากอย่างที่คุณแม่หลายคนถูกข้อมูลข้างกล่องนมผสมล่อหลอก
จากงานวิจัยทำให้เราทราบว่าทารกอายุตั้งแต่ 1-6 เดือน ที่กินนมแม่ล้วนๆ นั้น มีความต้องการน้ำนมเฉลี่ยวันละ 25 ออนซ์ (750 ml) ทารกแต่ละคนกินนมแม่ไม่เท่ากัน โดยมีปริมาณอยู่ระหว่าง 19-30 ออนซ์ ต่อวัน (570-900 ml) ทารกที่กินน้อยอาจกินแค่วันละ 19 ออนซ์ ส่วนทารกที่กินเก่งๆ ก็อาจกินได้มากถึงวันละ 30 ออนซ์

จากข้อมูลนี้สามารถช่วยให้เราคำนวณปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการในแต่ละมื้อสำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงานได้ โดยการนำ 25 หารด้วยจำนวนมื้อที่ทารกกินนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกดูดนมแม่วันละ 8 ครั้ง ปริมาณน้ำนมต่อมื้อที่ควรจะเตรียมก็คือ 3 ออนซ์ (25/8 = 3.1) 

คุณแม่ที่เริ่มปั๊มนมใหม่ๆ มักจะบ่นว่าปั๊มได้น้อย เพราะชอบนำไปเทียบกับคนอื่น (ที่เขาปั๊มมานาน เชี่ยวชาญและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากกว่าความต้องการของลูกได้แล้ว) ขอบอกว่าปริมาณที่ปั๊มได้ถ้าเริ่มต้นในช่วงเดือนแรก 1-2 ออนซ์ต่อสองข้างนั้นเป็นเรื่องปกติ ถ้าขยันและมีวินัยในการปั๊มทุกวัน ปริมาณน้ำนมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน เห็นมาเยอะแล้วค่ะ ทีแรกก็บ่นว่าน้อย ปั๊มไปปั๊มมา กลายเป็นบ่นไม่มีที่จะเก็บ



Saturday, April 6, 2013

ความจริงที่ถูกปกปิด



 DHA เป็นกรดไขมันที่พบมากในสมองและเยื่อกระจกตา ทารกสามารถสร้าง DHA ได้เอง แต่อาจจะมีปริมาณไม่มากพอ น้ำนมแม่จึงมี DHA ธรรมชาติ อยู่ในปริมาณมาก

 ARA เป็นกรดไขมันที่เชื่อว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบประสาทส่วนกลาง

นมวัวหรือนมถั่วเหลืองไม่มี DHA ตามธรรมชาติ บริษัทผู้ผลิตจึงต้องเติม DHA สังเคราะห์ ลงในนมผสม

 นักวิจัยพบว่าการเติม DHA สังเคราะห์ ในนมผสม ทำให้ระดับ ARA ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในกล้ามเนื้อของทารกลดต่ำลงกว่าปกติ3

บริษัทนมผสมจึงแก้ไขความผิดพลาดนี้โดยการเติม ARA สังเคราะห์ ในนมผสมที่เติม DHA สังเคราะห์ ด้วย

DHA และ ARA สังเคราะห์ที่ใช้เติมในนมผสม ผลิตจากการหมักสาหร่ายในสารอาหารเหลว แล้วนำสาหร่ายแห้งไปบ่มกับสารละลายเฮ็กเซน* เพื่อสกัดน้ำมัน DHA และ ARA สังเคราะห์ ออกมา

DHA และ ARA สังเคราะห์ มีโครงสร้างโมเลกุลต่างจาก DHA และ ARA ตามธรรมชาติในนมแม่ ทารกบางคนที่ไม่สามารถย่อย DHA และ ARA สังเคราะห์ได้ จะเกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร

สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ได้รับรายงาน 98 ฉบับ4 เกี่ยวกับทารกที่มีปฏิกริยาตอบสนองต่อ DHA และ ARA สังเคราะห์ โดยมีอาการตั้งแต่การอาเจียนหรือท้องร่วงท้องเสีย (ซึ่งอาการจะหายไปเมื่อหยุดให้นมผสมสูตรเติม DHA และ ARA สังเคราะห์) จนถึงกรณีที่ต้องเข้าห้องไอซียูเพราะชักหรือขาดน้ำรุนแรง

ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันยา (Institute of Medicine) ของสหรัฐอเมริกาเชื่อว่ามีทารกจำนวนมากเจ็บป่วยเนื่องจากกินนมผสมสูตร DHA และ ARA สังเคราะห์ แต่ไม่ได้ส่งรายงานให้ FDA เนื่องจากแพทย์, พยาบาล, และพ่อแม่ไม่ได้เชื่อมโยงอาการเจ็บป่วยของทารกกับการกินนมผสมสูตร DHA และ ARA

DHA 5-6 เท่า ดีจริงหรือ

DHA และ ARA ธรรมชาติในนมแม่จะมีการปรับปริมาณอัตโนมัติ ในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เข้าไปปรับสมดุลระบบภายในร่างกายของทารกได้อย่างทันท่วงที และทำให้เซลล์สมอง และระบบการทำงานต่าง ๆ ของทารกพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ 

จากงานวิจัยในปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่าปริมาณ DHA และ ARA สังเคราะห์ในนมผสมควรจะเป็นเท่าใด และต้องมีสัดส่วนอย่างไร

ถ้า DHA และ ARA สังเคราะห์ที่เติมแต่งเข้าไป มากเกินกว่าปริมาณที่ทารกสามารถดูดซึมได้ ส่วนที่เกินจะต้องถูกกำจัดออกทางไต แต่ไตของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่จนกว่าจะอายุ 2 ปี จึงไม่สามารถกำจัดสารสังเคราะห์ส่วนเกินได้ สารเหล่านี้อาจกลายเป็นสารตกค้างและเป็นพิษต่อร่างกาย

ผู้ผลิตนมผสมอวดอ้างว่า DHA และ ARA สังเคราะห์ ที่เติมในนมผสมมีส่วนช่วยพัฒนาสมองและสายตา

 แต่ผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือได้พบว่า ทารกกินนมผสมที่เติม DHA และ ARA สังเคราะห์ ไม่ได้มีพัฒนาการดีกว่าทารกที่กินนมผสมสูตรธรรมดาเลย5

 งานวิจัยบางส่วนที่สรุปว่านมผสมที่เติม DHA และ ARA สังเคราะห์ ทำให้เด็กฉลาดกว่า ล้วนแต่เป็นงานวิจัยที่สนับสนุนโดยผู้ผลิตนมผสมเอง นอกจากนี้ผู้ผลิตก็ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันความปลอดภัยสำหรับทารกในการบริโภค DHA และ ARA สังเคราะห์ แต่บริษัทนมผสมก็ยังนำ DHA และ ARA สังเคราะห์ มาใช้ในนมผสม เพียงเพื่อให้ขายนมผสมได้มากขึ้นและตั้งราคาขายได้สูงขึ้น

     เมื่อต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2009 ศาลกลางสหรัฐมีคำตัดสินว่าบริษัทผู้ผลิตนมผสมยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของโลก มีความผิดฐานโฆษณาด้วยการให้ข้อมูลบิดเบือนจากความเป็นจริง 6

     คำโฆษณาของผู้ผลิตนมผสมรายนี้อ้างว่า นมผสมยี่ห้อของตนได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตของสมองและสายตา การใช้นมผสมอื่น ๆ อาจทำให้ทารกมีพัฒนาการที่ด้อยกว่า

     ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริง และไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้


      
มาร์เท็ค ไบโอไซแอนซ์ คอร์ปอเรชั่น (Martek Biosciences Corporation) ผู้ผลิตและจำหน่าย DHA และ ARA สังเคราะห์ ให้กับบริษัทผลิตนมผสมเกือบทุกบริษัท ยอมรับว่า จุดประสงค์ของสารเติมแต่งเหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อส่งเสริมพัฒนาการที่มีสุขภาพของทารก แต่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำการตลาดและโฆษณา ในเอกสารที่บริษัททำขึ้นเพื่อกระตุ้นการลงทุนจากนักลงทุน มาร์เท็คระบุอย่างชัดเจนว่า

          “ในปัจจุบันนมผสมสำหรับทารกกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งสินค้าทุกยี่ห้อแทบจะเหมือนกันทุกประการ ทุกบริษัทจึงต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการสร้างความแตกต่างให้กับยี่ห้อของตน ถึงแม้ DHA และ ARA สังเคราะห์ จะไม่มีประโยชน์ แต่เราเชื่อว่ามันก็ยังจะถูกนำไปเติมในนมผสมอย่างแพร่หลาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดและทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถโฆษณาได้ ว่านมผสมของบริษัทตัวเอง ใกล้เคียงกับนมแม่มากที่สุด 7


* สารละลายเฮ็กเซนเป็นสาระละลายที่ใช้วงการอุตสาหกรรมทั่วไป มีคุณสมบัติเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อสมอง จึงต้องถูกกำจัดออกจากน้ำมัน DHA สังเคราะห์ ด้วยขบวนการกลั่น, การกรอง, และการแยกชั้น

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์

Creative Commons License
บทความต่าง ๆ ในบล็อก nommae.blogspot.com โดย nitbert อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ nommae.blogspot.com.